POLITICS

ทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน เผย ปธน.เยอรมันเยือนไทยครั้งแรกในรอบ 22 ปี นายกฯ เปิดทำเนียบถก แลนด์บริดจ์-พลังงานสะอาด พรุ่งนี้

‘ทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน’ ยกการเยือนไทยของ ปธน.เยอรมัน ครั้งแรกในรอบ 22 ปี ช่วยวางแนวทางกระชับสัมพันธ์ 162 ปี หลัง ‘เศรษฐา’ ล็อกเป้าเป็น 1 ใน 10 ประเทศเป้าหมายเศรษฐกิจ จ่อเปิดทำเนียบพรุ่งนี้ ถก ‘แลนด์บริดจ์-พลังงานสะอาด’ ก่อนเข้าเฝ้าฯ ในหลวง-พระราชินี พร้อมชมการเกษตรอุบลฯ

วันนี้ (24 ม.ค. 67) นายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ The Reporters ก่อนต้อนรับ ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และภริยา ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) คืนนี้

นายณัฐวัฒน์ กล่าวถึงความสำคัญของการเยือนครั้งนี้ว่า ถือเป็นการเยือนครั้งแรกของประธานาธิบดีเยอรมนีในรอบ 22 ปี ซึ่งล่าสุดประธานาธิบดีเยอรมนีคนสุดท้ายที่มาเยือนประเทศไทยคือ นายโยฮันเนส เรา เมื่อ พ.ศ. 2545 สำหรับประเทศไทยนั้น มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับเยอรมนีมาอย่างยาวนานกว่า 162 ปี จึงเหมาะสมที่จะมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง

การเยือนของประธานาธิบดี ซึ่งถือเป็นประมุขแห่งรัฐนั้น มีความสำคัญในการ Set Tone (วางแนวทาง) สำหรับการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทย – เยอรมนี ในอนาคต เพราะรัฐบาลใหม่ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีนั้น ก็ได้กำหนดให้เยอรมนี เป็น 1 ใน 10 ประเทศเป้าหมาย ที่จะกระชับความสัมพันธ์ในมิติเศรษฐกิจและรอบด้าน การเยือนครั้งนี้จึงสำคัญทั้งตัวประธานาธิบดี และ Set Tone ความสัมพันธ์ระดับสูง และระดับอื่น ๆ ในอนาคต

สำหรับไฮไลต์ของกำหนดการเยือนครั้งนี้ นายณัฐวัฒน์ เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (25 ม.ค. 67) จะมีพิธีต้อนรับ ณ ทำเนียบรัฐบาล ต่อด้วยการหารือระหว่างประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี ก่อนการประชุมเต็มคณะร่วมกับภาคเอกชน จากนั้น กำหนดการที่สำคัญมากคือ ประธานาธิบดีเยอรมนี จะเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ซึ่งจะเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับความสัมพันธ์ 2 ประเทศ

ในแง่ของกำหนดการอื่น จะมีการเยี่ยมชมโรงงาน Mercedez Benz ซึ่งเยอรมนีกับไทยร่วมมือในสาขายานยนต์มานาน และไทยกำลังพัฒนาระบบนิเวศด้านยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ด้วย ส่วนในวันต่อมา จะมีการเยือน จ.อุบลราชธานี เพื่อเยี่ยมชมโครงการความร่วมมือไทย – เยอรมนี ในมิติเกษตรและสภาพภูมิอากาศ อย่างการปลูกข้าวอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับเกษตรกรไทย และการปกป้องสภาพภูมิอากาศที่ยั่งยืน ตลอดจนการเยี่ยมชมแผงพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) บนเขื่อนสิรินธร ซึ่งเป็นโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมมือกับบริษัท B.Grimm ซึ่งเป็นบริษัทไทย – เยอรมัน และใช้เทคโนโลยีของ Siemens จึงเป็นผู้จัดการจ่ายไฟฟ้าและระบบไฮบริดระหว่างไฟฟ้าพลังน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์

“สะท้อนว่าการเยือน 2 วันจะมีการหารือโดยอ้างบริบทของความสัมพันธ์อันยาวนาน 162 ปี มีการพูดถึงเรื่องปัจจุบันที่เรากำลังร่วมมือ เช่น EV การลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ ที่กำลังพัฒนา ในอนาคต มิติพลังงานทางเลือก ซึ่งหวังว่าเราจะพัฒนาโซลาร์ กังหันลม ค้นคว้า และวิจัย ไปสู่เทคโนโลยีไฮโดรเจนในอนาคต” เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน กล่าว

เป้าหมายหรือผลลัพธ์ที่คาดหวังจากการเยือนนี้ นายณัฐวัฒน์ เชื่อว่า ประธานาธิบดีมีเจตนากระชับความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนี กับประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะในรอบนี้จะมีการเยือนทั้งไทยและเวียดนาม ซึ่งเป็น 2 ประเทศที่มีศักยภาพในอาเซียน ทั้งยังมีความคาดหวังในการเพิ่มพูนการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยประธานาธิบดีได้นำรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ และนักธุรกิจร่วมคณะด้วย จึงเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ภาคธุรกิจทั้งสองประเทศได้หารือกัน ทั้งยังมีการมอบนโยบายให้ภาคธุรกิจว่ามีภาคส่วนสำคัญของไทยด้านใดบ้าง จึงเชื่อว่าคณะผู้แทนไทยสามารถนำเสนอโครงการสำคัญ เช่น แลนด์บริดจ์ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานทางเลือก และโดยเฉพาะข้อริเริ่มความตกลงการค้าเสรีไทย – สหภาพยุโรป (European Union: EU) หากมีความตกลงการค้าเสรีไทย – เยอรมนี ก็จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมทำให้ตลาดไทยมีเสน่ห์มากขึ้นสำหรับบริษัทเยอรมัน ทั้งระดับรัฐ และสหพันธ์ต่าง ๆ

Related Posts

Send this to a friend