POLITICS

“ทวี สอดส่อง” ชี้ คำวินิจฉัยศาล รธน. จะมีผลต่อการสร้างความเป็นธรรม หรือการดำรงความขัดแย้งในสังคมไทย !!

“ทวี สอดส่อง” ชี้ คำวินิจฉัยศาล รธน.กรณีหัวหน้า คสช เป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” หรือไม่ และการถือหุ้นสื่อ ของ ส.ส.จะมีผลต่อการสร้างความเป็นธรรม หรือการดำรงความขัดแย้งในสังคมไทย !!

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติได้โพสต์ความคิดเห็นสำคัญลงเฟสบุ๊คส่วนตัววันนี้ (6 ก.ค.62) ว่าประเด็นสำคัญทางการเมืองที่น่าติดตามในขณะนี้มีสองเรื่องใหญ่ที่หลายฝ่ายกำลังให้ความสนใจคือ

เรื่องแรก กรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของ ส.ส.ฝ่ายค้านที่เข้าชื่อจำนวน 110 คนขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170(4)ประกอบมาตรา 160(6)และมาตรา 98(15) เหตุเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่

เรื่องที่สอง เป็นกรณีที่มีการส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลสิ้นสุดลงเพราะถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนหรือไม่

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้งสองกรณีดังกล่าวจะมีผลต่อการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดสันติภาพ หรือดำรงความขัดแย้งในสังคมไทย !!คงต้องติดตามกันต่อไป

ประเด็นที่ว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในตำแหน่ง หัวหน้าคสช. เป็น”เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” หรือไม่นั้น หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าตำแหน่งหัวหน้า คสช.เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ก็จะส่งผลให้พล.อ.ประยุทธ์มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้เนื่องจากตำแหน่งหัวหน้า คสช.เป็นตำแหน่งที่มีการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งและตามรัฐธรรมนูญทั้งฉบับชั่วคราวปี 2557 และฉบับปี 2560 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าคสช.ไว้ จึงถือว่าตำแหน่งดังกล่าวได้รับการแต่งตั้งโดยกฏหมาย และได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินประจำตำแหน่ง หน.คสช 75,590 บาทต่อเดือน และเงินเพิ่มอีก 50,000 บาทต่อเดือน รวมเป็น 125,590 บาทต่อเดือน แยกต่างหากจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ในกรณีนี้ ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้พิพากษาวางเป็นบรรทัดฐานไว้ก่อนแล้วว่า ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 3578/2560 คดีที่อัยการสูงสุดฟ้องนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ข้อหาขัดคำสั่งให้รายงานตัวตามประกาศ คสช ซึ่งศาลได้วินิจฉัยสรุปว่า หัวหน้า คสช.เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจออกคำสั่ง คสช.ให้จำเลยมารายงานตัว เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามจึงเป็นการขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานจึงเป็นความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 วรรคหนึ่ง

ในกรณีเดียวกัน ได้มีผู้ยื่นคำร้องให้ กกต. วินิจฉัยว่าการเสนอชื่อ พลเอก ประยุทธ์ หัวหน้า คสช เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะ พล.อ.ประยุทธ์เป็น“เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” แต่ กกต.ไม่ได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวเพียงแต่ พิจารณาแล้วเห็นว่า การประกาศชื่อ พลเอก ประยุทธ์ เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีชอบด้วยกฏหมาย…แล้ว” เท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีผู้ยืนคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องโดยให้เหตุผลว่า ไม่ใช่บุคคลผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยตรงจากการกระทำของ กกต จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย

ด้วยความพยายามของ ส.ส. ฝ่ายค้าน นำโดยนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย ส.ส.พรรคร่วมฝ่านค้าน จำนวน 110 คน ร่วมกันเข้าชื่อขอให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฏรส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ว่าเป็น”เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” หรือไม่ นั้น และเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 ประธานสภาฯ ได้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แล้ว ถือเป็นความพยายามเพื่อต้องการให้ข้อสงสัยได้รับวินิจฉัยชี้ขาดโดยผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

ศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการเมืองไทย หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม ที่บุคคลทุกคนต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ที่มีกรณีที่ศาลฎีกาได้วางแนวคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานไว้ ถึง 2 กรณี คือ

“ความเป็นธรรมทางกฎหมาย” และ “ความเสมอภาคภายใต้กฎหมาย” จะสร้างความศักดิ์สิทธิ์และได้รับการยอมต่อกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ และผู้บังคับใช้กฎหมายซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ที่เรื่องดังกล่าวก็อยู่ที่ดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะวินิจฉัย

  1.  กรณี ส.ส.ถือหุ้นสื่อของ ส.ส. ว่าแค่เพียงผู้สมัครเข้ารับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโรงพิมพ์ รับพิมพ์หนังสือออกหนังสือพิมพ์จำหน่ายและจำหน่ายหนังสือพิมพ์ก็ถือว่าขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) แล้ว
  2. กรณี หน.หัวหน้า คสช. ที่ศาลฎีกาพิพากษาว่า ประกาศ คำสั่ง คสช เป็นไปตามของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 วรรคหนึ่ง ที่อาจถือได้ว่า หัวหน้า คสช เป็น เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ที่เป็นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (15) หรือไม่ซึ่งกรณีดังกล่าวทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัว

สิ่งที่ท้าทายคือศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคำร้องทั้งสองกรณีข้างต้นไปในทางใด จะยึดบรรทัดฐานเดียวกับศาลฎีกาหรือจะวางแนวบรรทัดฐานใหม่ก็คงต้องติดตามดูกันต่อไป

หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแตกต่างจากศาลฎีกาที่วางบรรทัดฐานไว้ ศาลรัฐธรรมนูญคงต้องให้เหตุผลที่ทำให้สังคมยอมรับได้ แม้ผลของคำวินิจฉัยจะผูกพันทุกองค์กรรวมถึงศาลฎีกาด้วยก็ตาม แต่ศาลฎีกาก็ถือเป็นศาลสูงสุดในระบบศาลยุติธรรม ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญ คงจะได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบมีเหตุมีผลที่สังคมยอมรับได้

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Send this to a friend