‘ติ่ง ศรายุทธิ์ ใจหลัก’ เบื้องหลังอุดมการณ์ อนาคตใหม่-ก้าวไกล-ประชาชน
เปิดตัวตน ‘ติ่งศรายุทธิ์ ใจหลัก’ ตัวจริง เบื้องหลังอดุมการณ์ อนาคตใหม่-ก้าวไกล-ประชาชน
ชื่อของ ‘ศรายุทธิ์ ใจหลัก’ เลขาธิการพรรคประชาชน ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในหมู่ประชาชน หรือแม้แต่มวลชน ‘ด้อมส้ม’ เพราะ ศรายุทธิ์ หรือ ติ่ง ไม่ได้ปรากฏตัวผ่านสื่อ ทั้ง ๆ ที่เขาคนนี้ คือ ’ตัวจริง‘ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ อดีตผู้อำนวยการพรรคอนาคตใหม่ อดีตผู้อำนวยการพรรคก้าวไกล และเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ กับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และ นายชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ตั้งแต่เป็นนักกิจกรรม สนนท. (สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย)
นี่จึงเป็นบทสัมภาษณ์กับสื่อมวลชนครั้งแรกของ ติ่ง-ศรายุทธิ์ ใจหลัก เลขาธิการพรรคประชาชน
“การเริ่มต้นในงานการเมืองของผม น่าจะเริ่มปี 2561 ที่ ธนาธร และ ชัยธวัช ชวนมาทำพรรคอนาคตใหม่ เราเป็นเพื่อนกันมานาน ระหว่างทำกิจกรรมนักศึกษาตั้งแต่ปี 2542-2545 สนิทสนมกัน แชร์ความคิดในการหาสิ่งดีงามในสังคม อยากเปลี่ยนแปลงสังคม ตั้งแต่สมัยนักศึกษา เมื่อมาถึงจุดที่ เอก ธนาธร และ ต๋อม ชัยธวัช ตั้งใจสร้างพรรค ผมเป็นคนแรกๆที่เขาคิดถึง”
ศรายุทธิ์ เล่าถึงที่มาของการเข้ามาร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ด้วยความเป็นเพื่อนกันมาอย่างยาวนาน และทำกิจกรรมนักศึกษาด้วยกันมา เมื่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และชัยธวัช ตุลาธน จะตั้งพรรคอนาคตใหม่ เขาจึงเป็นคนแรก ๆ ที่เพื่อนเก่าทั้งสองคนคิดถึง และวางบทบาทสำคัญ ในการสร้างเครือข่ายพรรคอนาคตใหม่
“ช่วงแรก ธนาธร และชัยธวัช มอบบทบาทให้ผมมีหน้าที่รวบรวมคนที่มีความคิดเหมือนกับเรามาตั้งพรรคอนาคตใหม่ ตั้งเป้าให้คนทุกจังหวัดมารวมกับเรา ผมมีหน้าที่ ทำอย่างไรจะให้ประชาชนมาร่วมตั้งพรรคให้ครบ 77 จังหวัด ซึ่งสุดท้ายได้มา 73 จังหวัด ทำให้เราได้คุยกับคนเยอะมาก ตอนนั้นหลายคนไม่ค่อยเชื่อว่าเราพูดจริง สิ่งที่ผมทำคือย้ำต่อสาธารณะว่าการสร้างพรรค สร้างการเปลี่ยนแปลง”
ศรายุทธิ์ ยอมรับว่าในช่วงแรกของการตั้งพรรคอนาคตใหม่ เขาทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการเครือข่าย มีหน้าที่คือการนำแกนนำพรรคไปลงพื้นที่ จนถูกแซวว่าเป็นเงาติดตามตัวธนาธร บางคนคิดว่าเขาเป็นเลขาฯ ของ ธนาธร การลงพื้นที่อย่างหนักทำให้ ศรายุทธิ์ บอกว่า เขาน่าจะเป็นคนแรกและคนเดียวของพรรคอนาคตใหม่ที่เดินทางไปทุกจังหวัด จนผลเลือกตั้งปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ได้ สส.กว่า 80 คน และภายหลังจากธนาธรได้เป็น สส.เขาบริหารพรรคไม่ไหว จึงขอให้ ศรายุทธิ์ มาเป็นผู้อำนวยการพรรคอนาคตใหม่ จนพรรคถูกยุบ ศรายุทธิ์ ก็ไม่ได้ไปต่อกับพรรคก้าวไกล แต่เลือกที่จะไปทำงานเลือกตั้งท้องถิ่นกับคณะก้าวหน้า และได้กลับมาช่วยงานพรรคก้าวไกลอีกครั้ง ในตำแหน่งผู้อำนวยการพรรคก้าวไกล
“หลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ผมเลือกทำงานท้องถิ่นกับธนาธร ในคณะก้าวหน้า สิ่งสุดท้ายที่ทำคือที่ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด ที่มีโครงการน้ำประปา เมื่อทำสำเร็จ ชัยธวัช บอกว่า ถึงเวลาที่พรรคก้าวไกลเริ่มตั้งฐานมวลชน จึงดึงผมกลับมาทำพรรคก้าวไกล เราต้องการสร้างพรรคให้เป็นของทุกคน ผมจึงกลับมาทำงานเครือข่าย เป็นผู้อำนวยการพรรค ยาวมาจนพรรคก้าวไกลถูกยุบ ก็ถือว่าป็นผู้อำนวยการพรรคมา 2 พรรคแล้ว“
ศรายุทธิ์ จึงเป็นฟันเฟืองสำคัญ เป็นผู้ทำงานเบื้องหลัง เป็นผู้จัดการพรรค ตัวจริง !!
“งานที่ผมประทับใจ จากความตั้งใจอยากให้พรรคนี้เป็นของทุกใจ ผมจึงคิดให้มีคณะกรรมการจังหวัด เป็นโครงสร้างสมาชิกพรรคในทุกจังหวัด จึงเปิดให้มีการเลือกตั้ง ให้สมาชิกเลือกตั้งตัวแทนของตัวเอง ตอนประกาศไปคนไม่เชื่อ เพราะไม่คิดว่า แค่คนธรรมดา จะมีสิทธิเลือกตัวแทนตัวเอง พอทำจริง เห็นว่าเราเป็นพรรคที่เปิดให้ทุกคนมีอำนาจในพรรคจริง เป็นสิ่งที่เราประทับใจ ผมว่าถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ความเป็นเจ้าของพรคก็ไม่เกิด เรามีเวลา 1 ปีให้คนมาช่วยงานเรา ต้องให้อำนาจเขา เป็นเจ้าของพรรคจริง กลายเป็นสิ่งที่เกิด หัวคะแนนธรรมชาติ”
‘จงเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง’ ที่มาของหัวคะแนนธรรมชาติ
“เป็นความเชื่อของผมตั้งแต่อนาคตใหม่ สมัยเราไปเดินสายพบสมาชิกพรรคกับธนาธร มีสมาชิกหลายคนมีส่วนช่วยสำคัญโดยไม่รู้ตัว เขาปริ้นท์เอกสารเอง ทำป้ายติดเอง มีจำนวนไม่น้อย เลยเห็นว่ามีคนจำนวนมากทำแบบนี้โดยไม่ได้มีการเชื่อมโยงกับเราในการเลือกตั้ง ปี 2562 พอมาถึงการเลือกตั้ง 2566 เราพยายามจะสร้างเครือข่ายสมาชิก และสื่อสารนโยบาย ซึ่งไอติม พริษฐ์ เอานโยบายมาสื่อสารได้ดี เมื่อกระแสมา ความรู้สึกคนเริ่มมา อยากเห็นความหวัง เราคิดอย่างเป็นระบบ เราทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง โครงการนโยบายหิ้วได้ แปลงนโยบายให้เป็นสื่อจับต้องได้ ปรากฏการณ์หัวคะแนนธรรมชาติเกิดขึ้นมากมายเริ่มจากคนจำนวนหนึ่งทำก่อน และให้คนอีกส่วนหนึ่งทำตาม ความหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง เลยกลายเป็นปรากฏการณ์ที่พรรคก้าวไกลได้รับชัยชนะอันดับหนึ่งในปี 2566 ซึ่งกลายเป็นที่มาของความรู้สึกร่วมกันว่า จงเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง”
เอก-ต๋อม-ติ่ง เพื่อนร่วมอุมการณ์สู่การเมือง
ศรายุทธิ์ เปิดเผยถึงภาพ ต๋อม เอก ติ่ง กอดคอ กันเมื่อครั้งยังเป็นวัยหนุ่ม เขาเล่าว่าภาพนั้นน่าจะเป็นช่วงก่อนที่ธนาธร จะเดินทางไปต่างประเทศ ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นการไปม็อบสลัม 4 ภาค ก่อนที่ทั้ง 3 คน จะแยกย้ายกันมีชีวิต ธนาธร ไปทำธุรกิจ ชัยธวัช ทำหนังสือฟ้าเดียวกัน ส่วนศรายุทธิ์ ไปทำงานที่ลาว
“เราสนิทกันมานาน ผม ต๋อม และ เอก แลกเปลี่ยนกันมาเสมอ แม้ต่างคนต่างแยกย้าย เอกไปทำธุรกิจ ต๋อม ทำฟ้าเดียวกัน ผมไปลาว ระยะเวลา 20 ปีหลังจากแยกย้ายก็มีแลกเปลี่ยนกันบ้าง ถกเถียงกัน เราเป็นมิตรกัน เถียงกัน ก็ไม่มีปัญหากัน เราคล้ายกันมาก ผมไม่ใช่คนเก่งในเรื่องความคิด ยอมรับ ต๋อม และ เอก เก่งกว่าเยอะมาก แต่เราถกกันจนเข้าใจกัน”
ศรายุทธิ์ เล่าถึงความสัมพันธ์ของทั้งสามคน ที่รู้จักกันในช่วงทำกิจกรรมนักศึกษาที่สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สนนท. ซึ่งศรายุทธิ์ เริ่มทำในปี 2542 ขณะเรียนชั้นปีที่ 3 ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำให้เริ่มรู้จัก เอก-ธนาธร แต่สำหรับ ต๋อม-ชัยธวัช รู้จักมาตั้งแต่เรียนโรงเรียนเตรียมอุมศึกษา อาจเพราะเป็นคนใต้ ติ่งเป็นคนพังงา ต๋อมเป็นคนสงขลา ทำให้เป็นเด็กหอที่ต่างไม่ค่อยมีเงิน จึงชวนกันมาแชร์ห้องพักกัน จึงสนิทกัน จนกระทั่งเรียนมหาวิทยาลัย ต๋อม เรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ยังพักด้วยกัน ส่วนเอก เรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาทำกิจกรรมเป็นรองเลขาธิการ สนนท. ในยุคที่มี อุเชนทร์ เชียงเสน เป็น เลขาธิการ สนนท.ก่อนที่ ศรายุทธิ์ จะมาเป็นเลขาธิการ สนนท.ในปี 2543-2544 ทั้ง ติ่ง และเอก จึงสนิทกัน เขาเล่าว่า ชอบลุยเหมือนกัน เลยสนิทกัน
ความเพ้อฝันของคนวัยหนุ่ม ‘ต๋อม-เอก-ติ่ง’ เคยมีความคิดตั้งพรรคการเมือง
“ตอนนั้นเราคิดตามกระแสสังคม ณ เวลานั้น เชื่อในการเคลื่อนไหวนอกสภา เป็นยุคที่ประชาชนค่อนข้างมีเสรีภาพ ประชาชนเคยชุมนุมกันง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน เราเป็นส่วนหนึ่งไปเรียนรู้ นักศึกษาไปเรียนรู้ ผมไม่ได้มองว่านักศึกษาใหญ่โต เป็นกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งเวลานั้นเราไม่ได้สนใจการเมือง แต่การเคลื่อนไหวนอกสภาในเวลานั้น ทำให้เราเรียนรู้และเห็นว่าอำนาจรัฐสำคัญมาก ยอมรับว่าตอนนั้น เคยมีโมเมนต์ที่จะตั้งพรรคการเมืองเหมือนกัน ผมจำได้ว่าหลังผมหมดวาระเลขาธิการ สนนท. ก็ไปคุยกันในกลุ่มนักกิจกรรมยุคเดียวกัน ตอนนั้นคิดอย่างนี้จริง ๆ ว่าเราต้องเรียนรู้ ต้องไปอยู่ในจุดต่าง ๆ ไปแสวงหาความรู้ แล้วมาตั้งพรรคกันไหม แต่ตอนนั้นพวกเรายังเด็ก ยังเล็กมาก”
ศรายุทธิ์ บอกว่าแม้จะเคยมีความคิดนั้น แต่อาจจะเป็นเพียงความเพ้อฝันของคนวัยหนุ่ม เมื่อมองเห็นว่าทุกคนยังประสบการณ์น้อย จึงเห็นว่าควรออกเดินทางไปตามเส้นทางของแต่ละคน เอก-ธนาธร จึงไปเป็นนักธุรกิจ ทำให้ได้เห็นอะไรที่ใหญ่โต และเป็นประสบการณ์สำคัญ จนปลายปี 2561 ธนาธรส่งข้อความมาหาว่า สิ้นปีอยู่ไหน มาคุยกันหน่อยไหม ซึ่งศรายุทธิ์ บอกว่าจากเซนส์ของเขา ตีความในใจก็รู้ว่าธนาธรกำลังคิดอะไร
“คุณเอกส่งข้อความว่ามาคุยกันหน่อย คำพูดสั้น ๆ แต่ผมมีเซนส์ ผมตีความในใจว่าเขากำลังคิดอะไร แต่ไม่คิดว่าจะตั้งพรรคเอง น่าจะมีพรรคอื่นมาชวน เพราะคุณเอกเป็นนักธุรกิจ แต่พอมาฟังแล้วคนละเรื่องเลย คิดตั้งพรรคเองเลย พอฟังดูก็สนับสนุน เราตกผลึกในใจ ถ้าจะเปลี่ยนจริง ยึดอำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้ง จึงตั้งพรรคการเมือง ร่วมหัวจมท้าย 3 คน เพื่อนกัน จึงมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรค”
‘ธนาธร-ชัยธวัช ถูกตัดสิทธิการเมืองไปแล้ว ‘ศรายุทธิ์’ จะเป็นรายต่อไปหรือไม่
“เราตั้งใจว่าเราต้องสร้างพรรคให้กลายเป็นสถาบันให้ได้ เป็นความตั้งใจเราแต่แรก ว่าอยากสร้างพรรคให้กลายเป็นสถาบันให้ได้ เรามั่นใจได้ว่าในอนาคตจะมีพรรคแบบนี้ คงไม่ได้มาง่าย ๆ ต้องใช้เวลา แต่ทำยังไงให้มองการเติบโตได้ ความคิดนี้อยู่ในหัวใจเราตลอด ถ้าสังเกตที่ผมเป็นผู้อำนวยการพรรค ในช่วงการเลือกตั้ง มี 3-4 ภารกิจ ที่ทำให้พรรคเป็นสถาบัน ต้องเพิ่มจำนวนสมาชิก ตั้งตัวชี้วัดการมีส่วนร่วมของสมาชิก เพราะสะท้อนความเป็นเจ้าของ พยายามสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิก ทำให้โครงสร้างภายในยึดโยงกับสมาชิก ทำให้เงินของเรามาจากสมาชิก มาจากพรรค ถ้าเราทำทั้งหมดนี้ได้ ไม่มีเราไม่เป็นไร พรรคเดินไปได้ เป็นความพยายามที่อยากทำให้ได้จริง ๆ”
ศรายุทธิ์ บอกว่าเขาไม่ได้กลัวที่จะถูกตัดสิทธิการเมืองเป็นรายต่อไป เพราะตั้งใจอยากทำพรรคการเมืองให้เป็นสถาบัน ซึ่งหลังพรรคก้าวไกลถูกยุบ ภายในเวลาไม่ถึง 48 ชั่วโมง พวกเขาสามารถนำ 143 สส. ย้ายมาอยู่พรรคใหม่ได้สำเร็จ อาจเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของการเข้าสู่สถาบันการเมือง
“เป็นความตั้งใจ ที่คิดตั้งแต่แรกว่า พรรคก้าวไกลอาจไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าคนกุมอำนาจจะยึดเราเมื่อไหร่ เราอยากทำให้เกิดสิ่งนี้ มีโครงสร้างที่พร้อม เราจึงทำโครงสร้างไว้ทั้งระดับตำบล ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ก่อนยุบพรรคก้าวไกลเรามีสมาชิก 1 แสนกว่าคน ผมจึงตั้งใจว่า ภายใน 1 เดือนจะทำให้พรรคประชาชน กลับมามีสมาชิกและเงินบริจาคให้เท่ากับพรรคก้าวไกลให้ได้”
ซึ่งแน่นอนว่าภายในเวลา 9 ชม.พรรคประชาชน มีสมาชิกกว่า 20,000 คน และมีเงินบริจาคกว่า 10 ล้านบาท นี่จึงเป็นบทพิสูจน์ ที่ศรายุทธิ์ ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ถ้าพรรคเป็นสถาบัน จะยุบไปกี่ครั้งก็ตั้งขึ้นใหม่ได้
“ผมตั้งใจว่าจะให้เป็นอย่างนั้น ผมพบคนมาก เห็นคนที่คุยกับเราอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงจริง เมื่อเจอคนเหล่านี้จำนวนมาก พรรคการเมืองเป็นของเราทุกคนไม่ใช่การเมือง เมื่อไหร่ที่เราเป็นสถาบัน ผมไม่กังวลเรื่องนี้เลย กระบวนการภายในเราจะมีคนใหม่เสมอ คนเลือกเราเลือกที่อุดมการณ์แนวคิด ไม่ใช่ตัวบุคคล”
ศรายุทธิ์ เชื่อว่า เท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน จะป๊อบปูล่าไม่น้อยกว่า ทิม สส.ก็จะได้รับการยอมรับ เขายืนยันว่าไม่กังวล เรื่องตัวบุคคลจะถูกตัดสิทธิการเมืองอีก ทำให้ในทางเทคนิคต้องทำให้สูญเสียคนให้น้อยที่สุด การตั้งกรรมการบริหารพรรคเพียง 5 คน อยู่บนหลักคิด เอาน้อยไว้ก่อน แต่วันหนึ่งถ้าภายในต้องการเพิ่มก็เพิ่ม ด้วยกระบวนการแบบนี้ จึงไม่ได้กังวลเลยว่าไม่มีจะไม่มีคนมาเพิ่ม
“ผมคิดว่า สส.เป็นตัวแทนประชาชน และรู้ว่าประชาชนคาดหวังอะไร แต่ละคนถ้าจะไปก็ยากนะ ถ้ารู้ว่าประชาชนต้องการอะไร ที่ผ่านมาผมไม่ให้ความสำคัญ ไม่สนใจ ไปก็ไป อยู่ก็อยู่ มั่นใจลึก ๆ ถ้าจะไปก็น้อย แต่เมื่ออยู่ด้วยกัน 100 % ก็ถือว่าประทับใจ เพื่อน สส.ทุกคน”
ศรายุทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย ในวันที่ สส.อดีตพรรคก้าวไกล ย้ายมาพรรคประชาชน ด้วยกันทั้ง 143 คน โดยไม่มี “งูเห่า”