WORLD

ขึ้นภาษีเป็น 10% เป็นเรื่อง “ต้องทำ” หรือ “ยังไม่ถึงเวลา”

หลังจากที่ญี่ปุ่นได้ชะลอการขึ้นภาษีบริโภค (Consumption Tax) มา 2 ครั้ง ก็ถึงเวลาแล้วที่ต้องขึ้นภาษีจาก 8% เป็น 10% เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ และเป็นที่กังวลรวมถึงไม่พอใจอย่างมากกับประชากรในประเทศ หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปยังญี่ปุ่นในช่วงฤดูใบไม้เปลี่ยนสีนี้ แต่ไม่ว่าจะไม่เป็นที่นิยมขนาดไหนก็ตาม นักวิเคราะห์ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อค่าใช้จ่ายในด้านสวัสดิการสังคมสำหรับประชากรผู้สูงอายุกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนอาจสร้างปัญหาทางการเงินให้กับประเทศในอนาคตได้

ผู้เชี่ยวชาญได้แสดงความคิดเห็นว่า สำหรับประเทศที่มีผู้สูงอายุจำนวนมาก หรือกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ควรขึ้นภาษีบริโภคไปจนถึงมากกว่า 20 % โดย องค์กรเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่าประเทศญี่ปุ่นควรขึ้นภาษีบริโภคถึง 25 – 26 % เลยทีเดียว โดยเหล่าผู้สนับสนุนการเพิ่มภาษีบริโภคกล่าวว่า ภาษีบริโภคทำให้คนทุกรุ่นได้ร่วมกันมีส่วนรับผิดชอบกับค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมของประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น และอัตราภาษีของญี่ปุ่นก็นับว่าอยู่ในกลุ่มที่มีอัตราต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ในขณะที่กลุ่มผู้คัดค้านแสดงความคิดเห็นว่าการขึ้นภาษีโดยไม่ได้ขึ้นอัตราเงินเดือน จะทำให้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ได้ยืนยันว่า ยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องขึ้นภาษีบริโภคมากกว่า 10% ในช่วงทศวรรษหน้า

โดยรัฐบาลของนายอาเบะได้ออกมาตรการชั่วคราวระหว่างเดือน ต.ค. 62 – มิ.ย. 63 เพื่อลดกระแสความวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจจะเกิดการช็อคด้วยการมอบเงิน 5% ของเงินได้จากการใช้จ่ายทั้งหมดจากกองทุนเงินของรัฐ ให้กับผู้บริโภคในรูปแบบของ Rewards Program อาทิ แต้มสะสมจากการจับจ่ายสินค้า หากใช้จ่ายผ่านระบบไร้เงินสด (Cashless system) ผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ บัตร IC หรือบัตรเครดิต ในร้านชำ ร้านค้าปลีก หรือร้านอาหาร ในอัตรา 2% เมื่อใช้จ่ายผ่านสาขาของร้านสะดวกซื้อหลักๆ อย่าง 7-11, Family Mart หรือ Lawson และสาขาของฟาสต์ฟู้ดต่างๆ โดยอาจอยู่ในรูปแบบของการจ่ายคืนเข้าในบัตร หรือการลดราคาทันที แล้วแต่กรณี และรายละเอียดของแต่ละร้าน

ฝ่ายไม่เห็นด้วยชี้ ควรขึ้นเมื่อสภาพเศรษฐกิจพร้อม

ผู้เชี่ยวชาญ มีความกังวลว่า มาตรการดังกล่าว นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาสงครามราคากับร้านที่ไม่ได้ร่วมในโครงการ เช่นร้านขายยา หรือซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่น ไปจนถึงปัญหาการถดถอยของการบริโภคภายหลังมาตรการดังกล่าว

Etsuro Honda ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของนายอาเบะ อดีตเอกอัครราชทูตประจำสวิสเซอแลนด์ หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นภาษีบริโภคในครั้งนี้ ได้แสดงความคิดเห็นว่า การขึ้นภาษีในครั้งนี้จะทำให้การบริโภคลดลง เศรษฐกิจชะลอตัว และส่งผลเสียต่อ “อาเบะโนมิกส์” ซึ่งการออกมาตรการชั่วคราวก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะการขึ้นภาษีครั้งนี้ไม่ได้คำนึงถึงสภาพตลาดที่แท้จริง และดัชนีทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม แต่เหมือนเป็นการขึ้นตามวาระทางการเมืองตามที่รัฐบาลของนายอาเบะได้แถลงนโยบายไว้โดยไม่คำนึงถึงสภาพในปัจจุบันมากกว่า ในสภาวะที่รายได้เฉลี่ยของประชากรยังคงที่ การขึ้นภาษีจะกระทบต่อการบริโภคอย่างแน่นอน แต่จะช้าหรือเร็วนั้นยังมีปัจจัยภายนอกประเทศอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อาทิ สงครามการค้าอเมริกา-จีน และ Brexit

Honda ยังเปิดเผยว่าในฐานะหัวหน้าทีมสร้างสรรค์นโยบายเศรษฐกิจของนายอาเบะ (Abenomics) เขาไม่เห็นด้วยกับการขึ้นภาษีบริโภคในครั้งนี้ และได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนมาโดยตลอดว่า หากจำเป็นต้องขึ้นภาษีจริงๆ อย่างน้อยที่สุดต้องขึ้นเพียงคราวละ 1% ต่อปีเท่านั้น และแสดงความเป็นห่วงกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะการหดตัวของการบริโภคอย่างรวดเร็ว ซึ่งนายอาเบะก็รับฟัง แต่คาดว่าจะมีคนบางกลุ่มในฝ่ายบริหารที่เห็นต่าง และมองว่าสภาพเศรษฐกิจในตอนนี้พร้อมแล้วสำหรับการขึ้นภาษีบริโภค

การขึ้นภาษีบริโภคในครั้งนี้ นอกเหนือจากเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการที่เพิ่มขึ้นสำหรับสังคมผู้สูงอายุแล้ว นายอาเบะยังต้องการนำรายได้จากการขึ้นภาษีในครั้งนี้มาสนับสนุนนโยบายการศึกษาระดับก่อนประถมวัยฟรีอีกด้วย ซึ่งโดยส่วนตัว Honda คิดว่าควรจะออกพันธบัตรรัฐบาล โดยเฉพาะพันธบัตรระยะยาวเพื่อระดมทุนแทนการขึ้นภาษีมากกว่า 

ฝ่ายเห็นด้วยบอก ควรจะขึ้นภาษีเป็น 15% ใน 6 ปี

Shigeki Morinobu ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี และกฏหมาย กล่าวว่าชาวญี่ปุ่นที่เกิดในยุคหลังสงครามจะอายุ 75 ในปี 2568 ซึ่งการขึ้นภาษีบริโภคเป็น 10% ไม่เพียงพอต่อระบบสวัสดิการสังคม และไม่สามารถการขึ้นภาษีเพิ่มอีกอย่างแน่นอน

การขึ้นภาษีอาจกระทบต่ออำนาจการซื้อและเศรษฐกิจ แต่ก็ได้มีมาตรการระยะสั้นมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว อีกทั้งการส่งออกยังได้รับการยกเว้นภาษีบริโภคทำให้การขึ้นภาษี แม้แต่จะขึ้นไปถึง 15% ก็จะไม่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของประเทศ

การขึ้นภาษีจะทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 5.2 ล้านล้านเยนต่อปี โดย 3.2 ล้านล้านเยน จะถูกนำไปใช้ในโครงการการศึกษาระดับก่อนประถมวัยฟรีสำหรับเด็ก 3-5 ขวบ และอีก 2.3 ล้านล้านเยน จะถูกนำไปใช้ในการสนับสนุนการใช้จ่ายแบบไร้เงินสด และการลดภาษีอสังหาริมทรัพย์

หากชาวญี่ปุ่นต้องการสวัสดิการสังคมที่เพิ่มสูงขึ้น อาทิ การเคหะ สถานดูแลผู้สูงอายุ การบริการทางการแพทย์ ก็ต้องขึ้นภาษีให้สูงขึ้นกว่า 10% อย่างแน่นอน เพราะในประเทศอื่นๆ ก็มีอัตราภาษีบริโภคที่สูงกว่าญี่ปุ่นอยู่แล้ว อย่างเช่น ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปมีอัตราภาษีต่ำสุดที่ 15% และสูงสุดที่ 20% อย่างไรก็ตาม การจะขึ้นภาษีไปถึง 15% ควรค่อยๆ ขึ้นในอัตราปีละ 1% เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น และรัฐบาลควรทำการศึกษาความเป็นไปได้ และกำหนดนโยบายเกี่ยวกับแผนการขึ้นภาษีที่ชัดเจนเพื่อนำเสนอต่อชาวญี่ปุ่นภายในปีหน้า

ไม่ว่าจะมีความคิดเห็นเช่นไร การขึ้นภาษีบริโภคของญี่ปุ่นจาก 8% เป็น 10% ก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนแล้วในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 นี้ ท่ามกลางความกังวลของชาวญี่ปุ่น และการจับตาของคนทั้งโลก รวมถึงประเทศไทย

อ้างอิง Japantimes, Japan Today, PWC, ITR, Nippon, taxbackinternational

Related Posts

Send this to a friend