WORLD

ครบ 1 ปี ‘วิชา รัตนภักดี’ เหยื่อชาวไทยถูกทำร้าย เสียชีวิต จุดประกายขบวนต้านการเหยียดเอเชีย-อเมริกัน

ครบ 1 ปี ‘วิชา รัตนภักดี’ เหยื่อชาวไทยถูกวัยรุ่นทำร้ายเสียชีวิต จุดประกายขบวนต้านการเหยียดเอเชีย-อเมริกัน บอร์ดซานฟรานฯเตรียมเปลี่ยนชื่อถนน Vicha Ratanapakdee Lane

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2565 ตามเวลาท้องถิ่นกรุงซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ชาวเอเชีย-อเมริกันร่วมขบวน Asian Justice Rally เพื่อรำลึก 1 ปีการเสียชีวิตของนายวิชา รัตนภักดี ชายสูงอายุชาวไทยที่เสียชีวิตจากความรุนแรงในสหรัฐฯ ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการเหยียดเชื้อชาติ โดยการรวมตัวครั้งนี้ไม่เพียงแต่รำลึกกรณีนายวิชาเท่านั้น แต่ยังมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลกิจกรรมการณรงค์ภายในอีกด้วย

โดยทั้ง 2 กิจกรรมมีเป้าหมายเดียวกันคือรวมกลุ่มเอเชียเพื่อขับเคลื่อนความยุติธรรมให้กับเหยื่ออาชญากรรมชาวเอเชีย-อเมริกันอีกหลายชีวิตที่เสียชีวิตจากการเหตุการณ์ความรุนแรง ซึ่งหลายกรณีเกิดขึ้นจากการเหยียดเชื้อชาติและสัญชาติ อีกทั้งเป็นการรณรงค์เพื่อลดความรุนแรงจากความเกลียดชังที่เกิดกับชาวเอเชียในสหรัฐฯ ในยุคโรคระบาดโควิด-19 ด้วย

มณฑนัศ รัตนภักดี บุตรสาวนายวิชา ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าของกรณีคดีความการทำร้ายบิดาว่า ขณะนี้คดีความยังอยู่ในช่วงการสืบสวนของศาลชั้นต้นและยังไม่มีการส่งฟ้อง โดยศาลนัดไต่สวนอีกทีวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ เข้าใจว่าเหตุผลหนึ่งเป็นเพราะโรคระบาด ซึ่งตนและครอบครัวผิดหวังกับความล่าช้าของคดี แต่ยังไม่สิ้นหวังจากการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้บิดารวมทั้งเหยื่ออาชญากรรมชาวเอเชียรายอื่น ๆ

“ทนายทั้ง 2 ฝ่ายยังคงรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อสู้คดีอยู่ เราเองยังไม่รู้เหมือนกันว่าอัยการจะมีอะไรมาเสนอต่อผู้พิพากษา แต่เรายังเชื่อว่าคดีความของคุณพ่อจะเป็นตัวอย่างความยุติธรรมให้แก่เหยื่ออาชญากรรมที่เกิดจากการเหยียดเชื้อชาติ เราผิดหวังเพราะคดีอื่นๆในรัฐนี้จบเร็ว ปิดเร็ว คือไม่เทียบกับรัฐอื่นนะ เอาแค่รัฐนี้ เราคิดว่าควรจะเร็วกว่านี้ อยากให้ลงโทษคนร้ายจริงจัง ไม่อยากให้การเสียชีวิตของพ่อเปล่าประโยชน์” มณฑนัศ กล่าว

อย่างไรก็ตามขณะนี้ทางบอร์ดบริหารกรุงซานซิสโกหรือ Board of Supervisors อยู่ในระหว่างการลงความเห็นอนุมัติเบื้องต้นและมีความเป็นไปได้ว่า อาจจะมีการเปลี่ยนชื่อถนน Sonora Lane ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุทำร้ายนายวิชา เป็น Vicha Ratanapakdee Lane ขณะนี้รอให้ออกเป็นกฎหมาย เพื่อเป็นการเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการ

ด้าน แกรี่ คุณาบุตร ตำรวจอเมริกันเชื้อสายไทย ซึ่งเพิ่งได้รับตำแหน่งตำรวจดีเด่น ให้สัมภาษณ์ว่า จริงๆ เรื่องอาชญากรรมในกรุงซานฟรานซิสโกนั้นมีให้เห็นรายวัน และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตนในนามคนไทย คนเอเชียเข้าใจดีว่ามีข่าวน่าเศร้าเกิดขึ้นกับพี่น้องชาวเอเชียย่อมสร้างความลำบากใจ ความหวาดกลัวแก่คนเชื้อสายเอเชียไม่น้อย แต่สิ่งที่ตนกังวลมากที่สุดคือ คนเอเชียสูงวัยหลายคนไม่รู้ภาษา พอเกิดเหตุร้ายแรงก็ไม่กล้าคุยกับตำรวจ กลัวคุยไม่รู้เรื่อง

“อยากฝากให้ทุกๆ คนโดยเฉพาะคนไทยว่า ไม่ว่าทักษะภาษาดี ภาษาแย่ ให้เปิดใจคุยกับตำรวจก่อน ถ้าต้องใช้ล่ามจริงๆ ก็จะพยายามช่วย แต่อย่าเงียบ เพราะถ้าเงียบ คดีความไม่คืบหน้าแน่ๆ” แกรี่กล่าว

ขณะที่ ‘แซม’ ชาวกัมพูชาในซานฟรานซิสโก กล่าวว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่มองว่า คนเอเชียรุ่นใหม่มีหัวคิดก้าวหน้าและกล้าเคลื่อนไหวผ่านสังคมออนไลน์ การเดินขบวนตามท้องถนน ตลอดจนทำกิจกรรมที่หลากหลาย อย่างไรก็ตามอยากให้เพิ่มกรณีเหยื่ออาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังชาวเอเชีย เป็นกรณีศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเข้าไปด้วย

“เราได้ยินเรื่องทาสผิวสี เราได้ยินเรื่องคนอินเดียแดงถูกทำร้าย แต่เราไม่ได้ยินเรื่องคนเอเชียถูกทำร้ายบ่อยนัก เรามักได้ยินแต่คนเอเชียเรียนเก่ง คว้าแชมป์ อะไรพวกนี้ ผมว่ามันเป็นข่าวดีแต่มันควรจะมีการพูดถึงปัญหาเด็กเอเชียบ้าง ผมจึงมาเดินขบวนมาหาช่องทางร่วมเป็นอาสาสมัครเพราะผมอยากให้สังคม Bay area น่าอยู่และปลอดภัย “ แซมกล่าว

แซมพูดถึงกรณีนายวิชาด้วยว่า อีกประเด็นที่ตนอยากร่วมสนับสนุนคือ เหตุการณ์อาชญากรรมที่เกิดกับคนวัยชราเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเกิดกับคนชาติใด ตนมองว่าไม่ควรมี กรณีลุงวิชาควรเป็นกรณีสุดท้าย เพราะคนชราเปราะบาง ความปลอดภัยบนท้องถนนในชุมชนควรมีมากกว่านี้ ซึ่งซานฟรานซิสโก ล้มเหลว และผู้บริหารควรมีความเข้มงวดมากกว่านี้

Related Posts

Send this to a friend