WORLD

ออสเตรเลีย ออกประกาศอย่างเป็นทางการ “โคอาล่า” เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์

ซัสซัน เลย์ รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของออสเตรเลีย ได้ยอมรับในคำแนะนำของคณะกรรมการนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการว่า ประชากรโคอาล่าในรัฐควีนส์แลนด์ นิวเซาท์เวลส์ และเขตนครหลวงของออสเตรเลียควรได้รับการยกระดับสถานะการอนุรักษ์ และยังเตือนว่า รัฐบาลต้องเข้าไปแทรกแซงทันทีเพื่อปกป้องชีวิตและถิ่นที่อยู่อาศัยของโคอาล่า

ปีที่ผ่านมา มูลนิธิโคอาล่าออสเตรเลียระว่าช่วง 3 ปีมานี้ ออสเตรเลียสูญเสียโคอาล่าไปประมาณ 30% คาดว่าจำนวนโคอาล่าจะลดลงเหลือน้อยกว่า 58,000 ตัว จากที่เคยมีมากกว่า 80,000 ตัว ในปี 2018 โดยที่รัฐนิวเซาท์เวลส์มีจำนวนลดลงมากที่สุด

ขณะที่การศึกษาของ World Wide Fund for Nature หรือ WWF ประเมินว่า ไฟป่าในช่วงปลายปี 2019 และต้นปี 2020 ได้คร่าชีวิตหรือทำให้โคอาล่าบาดเจ็บไปกว่า 60,000 ตัว แต่ก่อนที่จะเกิดไฟป่า แหล่งที่อยู่อาศัยของโคอาล่าก็ลดลงอย่างรวดเร็ว จากการรุกล้ำที่ดินเพื่อทำเกษตร การพัฒนาเมือง เหมืองแร่ และการทำป่าไม้

ก่อนหน้านี้ เดบราห์ ทาบาร์ท ประธานมูลนิธิโคอาลาออสเตรเลีย ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายคุ้มครองโคอาลา โดยเตือนว่า สถานการณ์อาจเลวร้ายลงไปมากกว่านี้ ซึ่งในขณะนั้น โคอาลาถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มสัตว์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ภายใต้กฎหมายท้องถิ่นของรัฐนิวเซาธ์เวลล์ ควีนสแลนด์ และรัฐบาลกลางออสเตรเลีย

โคอาลา เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีกระเป๋าหน้าท้องจำพวกพอสซัม ตัวเมียจะมีกระเป๋าหน้าท้องสำหรับให้ลูกอ่อนอาศัยอยู่ แต่จากการที่มีลักษณะรูปร่างหน้าตาคล้ายสัตว์ในตระกูลหมีและชอบอยู่บนต้นไม้ ทำให้ถูกเรียกว่า “หมีโคอาลา” หรือ “หมีต้นไม้”

ปี 1798 มีบันทึกครั้งแรกว่าพบโคอาลา ข้อมูลของโคอาลาจึงเริ่มถูกตีพิมพ์ในซิดนีย์กาเซ็ตต์ ชื่อสามัญ “โคอาลา” มาจากภาษาอะบอริจินี มีความหมายว่า “ไม่กินน้ำ” เนื่องจากพฤติกรรมที่เป็นสัตว์ไม่ดื่มน้ำเลย เพราะได้รับน้ำในปริมาณที่เพียงพอจากใบยูคาลิปตัส

โคอาลากินใบยูคาลิปตัสเป็นอาหาร ฟันและระบบย่อยอาหารถูกพัฒนามาให้สามารถกินและย่อยใบยูคาลิปตัสได้ ซึ่งใบยูคาลิปตัสมีสารอาหารน้อยมากและยังมีสารที่มีพิษต่อสัตว์ แต่ระบบย่อยอาหารของโคอาลามีการปรับตัว ทำให้สามารถทำลายพิษนั้นได้ โคอาลามีอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการย่อยไฟเบอร์ยาวมากถึง 200 ซม. ที่บริเวณอวัยวะนี้ มีแบคทีเรียที่ช่วยในการย่อยไฟเบอร์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของใบยูคาลิปตัสให้กลายเป็นสารอาหารที่ดูดซึมได้

Related Posts

Send this to a friend