FEATURE TRAVEL

เยี่ยมชมพระราชวังเดิม พระราชวังแห่งเดียวในสมัยกรุงธนบุรี

แม้จะอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือเป็น “คนฝั่งธนฯ” เอง หลายๆ คนก็อาจจะยังไม่เคยมาเยี่ยมเยือนพระราชวังแห่งนี้ และหลายๆ คนที่มีโอกาสได้เข้ามาเยี่ยมชมเป็นครั้งแรก ก็อาจจะแปลกใจกับขนาด และสถาปัตยกรรมของพระราชวังแห่งกรุงธนบุรี ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 

วันนี้ The Reporters Travel ขอนำท่านมาเรียนรู้ และรู้จักกับพระราชวังแห่งนี้กันเนื่องในวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 28 ธันวาคม 2563

พระราชวังเดิม” หรือ “พระราชวังกรุงธนบุรี” เป็นพระราชวังเพียงแห่งเดียวในสมัยกรุงธนบุรี เป็นพระราชวังที่มีขนาดเล็ก เนื่องจากเป็นช่วงเวลาหลังกอบกู้เอกราชจากพม่า และกรุงศรีอยุธยา ราชธานีเดิมทรุดโทรมจนไม่สามารถบูรณะให้กลับสู่สภาพเดิมได้ และต้องใช้ทรัพยากรในการบูรณะมาก นอกจากนั้นยังสันนิษฐานกันว่า ที่ทรงเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานีนั้น เนื่องจากพื้นที่เล็ก เหมาะกับจำนวนไพร่พลที่มีอยู่ และยังมีชัยภูมิที่ดี ใกล้ปากแม่น้ำ มีป้อมปราการ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกอบกู้เอกราชได้สำเร็จโดยใช้เวลาเพียง 7 เดือนจากที่เสียงกรุงศรีอยุธยาไป และปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2310 จึงโปรดเกล้าให้สร้างพระราชวังหลวงขึ้นทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในบริเวณพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของป้อมวิไชยประสิทธิ์ (เดิมชื่อป้อมวิไชยเยนทร์) โดยมีอาณาเขตตั้งแต่วัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) จนถึงวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม)

ทางเข้าพระราชวังเดิม อยู่ภายในกองทัพเรือ

และที่เรียกขานกันในปัจจุบันว่า “พระราชวังเดิม” เนื่องจากหลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ครองราชย์ได้ประมาณ 15 ปี สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2325 ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และได้ทรงย้ายราชธานีมาฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และได้ทรงสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นเป็นที่ประทับ พระราชวังกรุงธนบุรีจึงได้รับการเรียกขานว่า “พระราชวังเดิม” นับแต่นั้นมา และได้กำหนดขอบเขตของพระราชวังเดิมให้แคบลงกว่าเดิม โดยแยกวัดแจ้ง และวัดท้ายตลาดออกจากพื้นที่ของพระราชวัง และโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์ชั้นสูง มาประทับที่พระราชวังเดิม

ปัจจุบัน พระราชวังเดิม อยู่ในพื้นที่ของกองทัพเรือ โดยมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม (มอ.วด.) เป็นผู้ดูแล การเปิดให้เข้าเยี่ยมชมแบบสาธารณะจะเปิดเพียงปีละครั้งในช่วงเดือนธันวาคม และในปีนี้เปิดให้เข้าชมระหว่าง 14- 28 ธันวาคม 2563 ระหว่างเวลา 09.00-15.30 น. นอกเหนือจากช่วงเวลานี้สามารถเข้าชมได้ โดยเปิดให้เข้าชมเป็นหมู่คณะ และทำหนังสือขออนุญาตล่วงหน้า 1-2 สัปดาห์กับ มอ.วด.

การเดินทางมายังโบราณสถานพระราชวังเดิม จึงต้องเข้าผ่านทางกองบัญชาการกองทัพเรือ และเมื่อเข้ามาถึงด้านในแล้ว จะพบพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ด้านซ้ายของพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ จะเป็นที่ตั้งของป้อมวิไชยประสิทธิ์ หรือป้อมวิไชยเยนทร์ที่คอละครบ้านเรารู้จักกันดี และมีผู้แวะเวียนมาขอเยี่ยมชมจำนวนมากในช่วงที่ละคร บุพเพสันนิวาส เป็นที่นิยม โดยป้อมแห่งนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อว่าป้อมบางกอก สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์กราบบังคมทูลแนะนำให้สร้างขึ้น เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนา กรุงธนบุรีเป็นราชธานีได้ทรงสร้างพระราชวังในบริเวณป้อมแห่งนี้พร้อมกับปรับปรุงป้อม และพระราชทานนามใหม่ว่า “ป้อมวิไชยประสิทธิ์” ปัจจุบันป้อมวิไชยประสิทธิ์ใช้เป็นที่ยิงสลุตในพิธีสำคัญต่างๆ และติดตั้งเสาธงเพื่อประดับธงราชนาวี และธงผู้บัญชาการทหารเรือ

ป้อมวิไชยประสิทธิ์ หรือป้อมวิไชยเยนทร์ หรือป้อมบางกอก

เมื่อผ่านประตูด้านหลังพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเข้ามาด้านใน ซ้ายมือจะเป็น “เรือนเขียว” ซึ่งสร้างขึ้นในช่วงเวลาที่มีการปรับปรุงพระราชวังเดิม ให้เป็นโรงเรียนนายเรือและได้ใช้เป็นสถานพยาบาลของโรงเรียนนายเรือ มีลักษณะเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว เป็นเรือนขนมปังขิงสีเขียวที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมตะวันตก ปัจจุบันในช่วงที่เปิดให้เข้าเยี่ยมชมโบราณสถานพระราชวังเดิม ใช้จัดฉายวีดีทัศน์ก่อนเข้าชม

เรือนเขียว อาคารไม้เรือนขนมปังขิง บรรยากาศร่มรื่น

แต่หากเดินตรงมา ทางขวามือจะเป็นตำหนักเก๋งคู่ สถาปัตยกรรมแบบจีนซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดฯ ให้ซ่อมแซมและดัดแปลง พร้อมกับให้สร้างพระตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่ในรูปแบบที่สอดคล้องกับหลังเล็ก โดยจุดสังเกตที่แปลกตา คือตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่ จะมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างไทย และจีน หลังคาอาคารมีการเขียนสีตกแต่งเป็นลวดลายแบบจีน แต่กรอบหน้าต่างเป็นแบบไทย ในขณะที่ตำหนักหลังเล็กจะไม่มีลวดลายใดๆ บนหลังคาอาคาร

ปัจจุบันเก๋งหลังเล็กใช้เป็นที่จัดแสดงเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจทางด้านการรบ เก๋งหลังใหญ่เป็นที่จัดแสดงภาพนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจในด้านการทำนุบำรุงบ้านเมือง

ตำหนักเก๋งคู่ ด้านติดกับทางเข้า (ขวามือของภาพ) เป็นเก๋งหลังใหญ่หลังคาเขียนสีตกแต่งเป็นลวดลายแบบจีน

ผ่านตำหนักเก๋งคู่จะเป็นโบราณสถานสำคัญ ท้องพระโรงกรุงธนบุรี ซึ่งสร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2311 และมีการสำรวจเพื่อบูรณะในปี 2538 พร้อมไปกับการขุดแต่งทางโบราณคดีภายในเขตกำแพงชั้นในพระราชวังเดิม โดยระหว่างการบูรณะทำให้ค้นพบโบราณวัตถุที่สำคัญ ทั้งโบราณวัตถุประเภทดินเผา และประเภทโลหะ ซึ่งนำมาสู่การศึกษาเพิ่มเติม

อาคารนี้มีรูปทรงแบบไทยประกอบด้วยพระที่นั่งสององค์เชื่อมต่อกัน ได้แก่พระที่นั่งองค์ทิศเหนือ เรียกว่าท้องพระโรง หรือวินิจฉัยอยู่ทางทิศเหนือใช้เป็นที่เสด็จออกขุนนาง และประกอบพระราชพิธีที่สำคัญมาแต่ครั้งกรุงธนบุรี และพระที่นั่งองค์ทิศใต้ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระที่นั่งองค์แรก เรียกกันว่าพระที่นั่งขวาง เป็นส่วนพระราชมณเฑียรอันเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน กองทัพเรือได้ใช้โถงท้องพระโรงภายในพระที่นั่งองค์ทิศเหนือ เป็นสถานที่ที่จัดงาน และประกอบพิธีสำคัญ เช่น พิธีประดับยศ เป็นประจำ ส่วนพระที่นั่งขวางได้ใช้เป็นห้องรับรองบุคคลสำคัญ และเป็นห้องประชุมในบางโอกาส

ท้องพระโรงมองจากด้านพระที่นั่งขวางซึ่งเป็นส่วนพระราชมณเฑียร
โถงท้องพระโรงภายในพระที่นั่งองค์ทิศเหนือ ปัจจุบันใช้ประกอบพิธีสำคัญของกองทัพเรือ

ด้านขวาของท้องพระโรง ถัดจากตำหนักเก๋งคู่ จะเป็นศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ศาลเจ้าตาก)ภายในศาลหลังนี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในท่าประทับยืนและทรงพระแสงดาบ สร้างขึ้นเมื่อครั้งสมเด็จ พระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมีกรมพระจักรพรรดิพงศ์ เสด็จมาประทับที่พระราชวังเดิมในระหว่างปี พ.ศ.2424 – 2443

ด้านขวาของศาลเจ้าตาก เป็นศาลศีรษะปลาวาฬ ซึ่งเป็นหนึ่งในโบราณสถานที่ค้นพบจากการขุดสำรวจ โดยพบฐานอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า และหลังจากการศึกษาเพิ่มเติม จึงสันนิษฐานว่าเป็นฐานอาคารศาลศีรษะปลาวาฬที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มอ.วด. จึงได้ปรึกษากับกรมศิลปากร และเห็นชอบให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2542 บนฐานของศาลหลังเดิมที่ได้ขุดพบเพื่อใช้เป็นที่ จัดแสดงกระดูกศีรษะปลาวาฬ (ที่ได้พบอยู่ใต้ถุนศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในคราวสำรวจพื้นที่ทางโบราณคดี)

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ศาลศีรษะปลาวาฬ ตำหนักเก๋งคู่ (ซ้ายไปขวา)
ศาลศีรษะปลาวาฬ หนึ่งในโบราณสถานที่ได้รับการบูรณะหลังการขุดสำรวจพบฐานอาคาร และกระดูกศีรษะปลาวาฬ

อีก 1 โบราณสถานสำคัญในพระราชวังเดิม คือ อาคารเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างขึ้นเมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และประทับที่พระราชวังเดิมในระหว่างปี พ.ศ.2367 – 2394 ตัวอาคารมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบตะวันตก หรือเรียกว่า “ตึกแบบอเมริกัน” และถือได้ว่าเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงค์ชั้นสูงที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบตะวันตกหลังแรกๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

อาคารเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชวังเดิมปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพเรือ ตั้งอยู่ที่ถนนอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร สามารถเดินทางมาได้ทั้งทางรถ ทางเรือ และทาง MRT (สถานีอิสรภาพ) นอกช่วงเวลาที่เปิดให้เข้าชมพิเศษ (14 – 28 ธันวาคม 63) สามารถติดต่อขอเข้าชมเป็นหมู่คณะ และทำหนังสือขออนุญาตล่วงหน้า 1-2 สัปดาห์กับมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม

สำหรับท่านที่ต้องการสนับสนุนการบูรณะโบราณสถานในพระราชวังเดิม สามารถสั่งซื้อ หนังสือ ดวงตราไปรษณียากร เหรียญที่ระลึก หรือพระบรมรูปได้ที่ มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม ชั้นล่างของตำหนักเก๋งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในบริเวณพระราชวังเดิม กองทัพเรือ ถนนอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ โทรศัพท์ : 0-2475-4117 0-2472-7291 (ในวันและเวลาราชการ)

Related Posts

Send this to a friend