KNOWLEDGE

ผู้เชี่ยวชาญเผยเหตุผลทำไม Influencer มีผลมากในยุคปัจจุบัน ที่แท้ คนเราใช้สมองส่วนตรรกะแค่ 5%

อาจารย์ลินดา ติกกะวี (อาจารย์หลิน) ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำงานของสมอง ผู้คิดค้นหลักสูตร “From Yes To Results” (พูดยังไงให้คนเห็นด้วย เมื่อเห็นด้วยแล้ว ทำยังไงให้เขาเปลี่ยน) เปิดเผยว่า มนุษย์เราใช้สมองส่วนตรรกะและเหตุผล (Neocortex) หรืออาจเรียกว่าสมองยุคใหม่ (New Brain) เพียง 5% และที่เหลืออีก 95% เราจะใช้สมองส่วนอัตโนมัติ หรือสมองโบราณ (Ancient Brain) ที่เป็นส่วนของสัญชาตญาน และถูกใช้งานเพื่อเอาตัวรอดจากอันตรายภายนอกมาตั้งแต่ยุคโบราณ

“เมื่อก่อน มนุษย์ใช้สมองสั่งการเพื่อความอยู่รอดจากอันตรายภายนอก และแม้ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปแล้ว อันตรายส่วนใหญ่เกิดจากตัวมนุษย์เองมากกว่า เราก็ยังใช้สมองส่วนนั้นมากกว่าสมองยุคใหม่ที่เป็นส่วนของตรรกะและเหตุผล”

“จะเห็นได้ว่ามนุษย์มีแนวโน้มที่จะทำตามๆ กัน (Follow the herd) ทำให้ Influencer หรือ Youtuber ต่างๆ จึงนับเป็นผู้มีอิทธิพลอย่างมาก ในยุคปัจจุบัน เพราะเมื่อมีผู้ติดตามมาก มีผู้เห็นด้วยมากๆ มากดไลค์มากๆ มาคอมเมนท์พูดคุยกันมากๆ ผู้ที่ผ่านเข้ามาดู มีคนแชร์มาให้ ก็มีแนวโน้มจะเชื่อตามไป หรือเห็นด้วย เพราะทำตามๆ กันไปได้” อาจารย์หลินอธิบาย
การใช้สมองโบราณยังทำให้มนุษย์เชื่อกับการให้ความหมาย (Labelling) กับสิ่งที่อยู่ข้างหน้าว่ามีผลร้าย หรือผลดีกับตน แล้วปฏิบัติไปตามนั้นเลยโดยไม่คิดวิเคราะห์แยกแยกทีละกรณี เช่นหากมีการให้ความหมายว่าสิ่งใดไม่ดี ก็มีแนวโน้มจะเกลียด ไม่ชอบ หลีกเลี่ยง จนเกิดเป็นทัศนคติต่อสิ่งนั้นในแง่ใดแง่หนึ่งไปเลย นอกจากนั้นยังมีแนวโน้มที่จะใช้พลังงานให้น้อยที่สุด (Energy Saving) และให้ความสำคัญกับตอนนี้ มากกว่าอนาคต จนเกิดทัศนคติ เดี๋ยวค่อยว่ากัน อย่าง กินไปก่อนเดี๋ยวค่อยลด รูดไปก่อนค่อยคิดเรื่องผ่อนทีหลัง เป็นต้น

อาจารย์หลิน แนะนำเพิ่มเติมว่า หากมีความเข้าใจเรื่องนี้ และนำมาประกอบกับความเข้าใจด้านการสื่อสาร ก็จะสามารถวางแผนการสื่อสารไปควบคู่กับการอาศัยความเข้าใจในกระบวนการทำงานของสมองเพื่อวางกลยุทธ์ว่าเราจะใช้เรื่องใดในการทำให้ผู้ฟังต้องการทำสิ่งนั้นๆ ด้วยตัวเอง โดยเทคนิคสำคัญคือการวางกรอบ แนวทาง และทิศทาง ที่ชัดเจนก่อนการเริ่มดำเนินการในทุกสถานการณ์ สร้างความสนใจร่วม สร้างทิศทางให้มองเห็น และเลือกช่องทาง หรือคำพูดที่ใช้ในการสื่อสารให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อโน้มน้าว และนำพาไปสู่การเข้าใจ ยอมรับ และปฏิบัติ ซึ่งในปัจจุบัน การสื่อสาร และการวางแผนลักษณะนี้ถูกนำมาใช้ในหลายๆ วงการ และประสบความสำเร็จอย่างดี

“ความเข้าใจเรื่องการทำงานของสมอง และการออกแบบการสื่อสารเพื่อโน้มน้าวใจ จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารงาน การบริหารลูกค้า หรือแม้แต่การทำการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลา และเกิดผลลัพธ์ที่ต้องการได้ ซึ่งความเข้าใจในส่วนนี้ ยังสามารถสร้างกรอบแนวคิดในการสร้างโมเดลการโน้มน้าวจิตใจเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือก่อให้เกิดพฤติกรรมใดๆ ได้อีกด้วย โดยปกติจากที่อาจต้องใช้เวลาเป็นปีๆ ในการบังคับใช้กฏใดๆ (และอาจทำไม่สำเร็จเสียด้วยซ้ำ) ไปสู่การใช้เวลาเพียงประมาณ 3 เดือน ตั้งแต่การเตรียมความพร้อม ไปจนถึงการเห็นผลจริง” อาจารย์หลินกล่าวทิ้งท้าย

อาจารย์ลินดา ติกกะวี (อาจารย์หลิน) ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำงานของสมอง ผู้คิดค้นหลักสูตร “From Yes To Results”

ที่มา: หลักสูตร “From Yes To Results” โดย Coach Lynda @lynntikkavee

ภาพประกอบ: Robina Weermeijer on Unsplash

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Send this to a friend