HUMANITY

จดหมายเล็ก ๆ จากคนภายนอกสู่ในเรือนจำให้ผู้ถูกคุมขังทางการเมือง

“จดหมายเล็ก ๆ จากคนภายนอกสู่ในเรือนจำ” กับเรื่องราวผ่านกรงขังในงาน Amnesty international Thailand #ประชาราษฎร์Festival

ช่วงเวลาที่ผ่านมาทั้งในพื้นที่การชุมนุม หรือออนไลน์ต่าง ๆ อาจพบเห็นพื้นที่กิจกรรมลักษณะการเขียนจดหมาย เขียนข้อความลงในกระดาษแล้วนำใส่ตู้ไปรษณีย์เพื่อเข้าไปภายในเรือนจำ จดหมายหลายฉบับในนี้เกิดจาก “Amnesty international Thailand โครงการ Write for Rights” ที่ได้ส่งผ่านเข้าไปภายในเรือนจำเพื่อนำส่งให้ผู้ถูกคุมขังในคดีทางการเมืองได้อ่านถึงข้อความจากผู้คนข้างนอกผ่านตัวอักษรไม่เกิน 10 บรรทัด ทั้งความคิดถึง ความเป็นห่วง เรื่องราวภานนอกกรงขังในช่วงเวลานั้น

“แม้ว่าการส่งจดหมายเข้าไปนี้อาจยากลำบากทั้งการตรวจเอกสารที่หากพบข้อความล่อแหลม หรือการเขียนสื่อสารที่ผิดแปลก ก็ถูกยกเลิกหมดทั้งกองกระดาษที่นำส่งมาได้ แต่พอผู้ถูกคุมขังได้อ่านก็มีความสุข มีรอยยิ้ม มีน้ำตา ถึงเรื่องราวจากผู้คนภายนอกส่งไปถึงคนภายในเรือนจำ” บทเสวนาส่วนหนึ่งจากกิจกรรมเขียนจดหมายถึงเพื่อนเรา

ปิยรัฐ จงเทพ กลุ่มมวลชนอาสา-We Volunteer เปิดเผยถึงความรู้สึกที่ได้รับจดหมายฉบับแรกในเรือนจำว่า เอกสารอะไรก็ตามแต่ที่เป็นข้อความเขียนแต่ก่อนนำเข้าไม่ได้เลย ลำพังนักโทษทั่วไปก็ถูกตรวจตราอยู่แล้ว แต่ที่นักหนากว่าคือนักโทษทางการเมืองจะถูกสั่งกำชับให้ตรวจตราทุกตัวอักษร ไม่ว่าจะเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เรือนจำคลองเปรมเอง จดหมายฉบับแรกจึงเป็นจดหมายจากเรือนจำกาฬสินธุ์ กระทั่งวันสุดท้ายที่ได้ย้ายเรือนจำ ได้เตรียมหอบจดหมายมาด้วย ผู้คุมจะต้องส่งไปตรวจก่อนถึงจะนำออกมาได้ เพราะหวั่นจะเป็นการเขียนแผนผังเรือนจำออกไปข้างนอก

จดหมายที่ได้รับจากเรือนจำกาฬสินธุ์จะต้องให้ตรวจเหมือนกัน จึงใช้วิธีการให้เพื่อนที่อยู่ข้างในทยอยส่งออกมาทีละชิ้นสองชิ้น และได้นำกระดาษเหล่านั้นมาเคลือบเก็บไว้อย่างดี เป็นกระดาษรูปหัวใจสีแดงบ้าง บางฉบับผมอ่าน 3-4 รอบ เป็นกำลังใจ ยิ้มไปกับมันได้ และพยายามตอบออกไปบ้าง แต่ก็อาจไม่ถูกส่งบ้าง ขึ้นอยู่กับดวง จดหมายจึงเป็นสิ่งเดียวที่เขาปรารถนา เป็นทั้งข่าวสาร เป็นสิ่งเดียวที่เชื่อมเรากับโลกภายนอกโดยผ่านตัวกลางคือทนายความ”

วันนึงผมอยู่ภายในเรือนจำกับคนอื่นๆ ได้มีการถูกเรียกตัวออกไปรับจดหมาย แต่ยกเว้นของผมที่ไม่ได้รับจดหมาย จึงทวงถามไปที่ผู้คุม ผู้คุมกับตอบว่า “ไม่มีจดหมาย” ผมจึงแย้งออกไปว่าทำไมจะไม่มีในเมื่อคนอื่น ๆ ได้หมดทุกคนเลย จนทำให้ผมมารู้ทีหลังจากทนาย ว่าส่งให้ทุกคนหมดเลย แค่น้อง ๆ WEVO เขียนมาก็เป็นแผ่นใหญ่แล้ว และผู้คุมไม่มีเวลามาตรวจรวมถึงน้อง ๆ ที่เขียนกันมาเป็นแบบรหัสลับไว้คุยกันจึงกลัวว่าจะเป็นการสั่งการอะไรในเรือนจำ จึงไม่ให้ของผมนั้นผ่านเข้ามาได้

หากโตโต้ ปิยรัฐ จะเขียนจดหมาย 1 ฉบับ จะเขียนถึงครอบครัวของผู้พิพากษาว่า “รู้สึกอย่างไรบ้างกับการนำคนที่ยังไม่ผิดไม่มีโทษไปขัง คุณกินอิ่มนอนหลับไหม เชิดหน้าชูตาในสังคมได้อย่างไรด้วยนามสกุลนี้ หากวันนี้ส่งไม่ได้ วันหน้าสักวันจะเดินเข้าไปถามว่าคุณยังอยู่ดีอยู่ไหมจากการที่คนในบ้านอยู่ในกระบวนการยุติธรรม”

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ผู้เคยได้รับจดหมายในเรือนจำระหว่างถูกคุมขัง กล่าวว่า ตลอดเวลาที่อยู่ในเรือนจำ ได้รับแค่ 2-3 ครั้งที่เป็นชุดรวมกัน 20 ฉบับ แล้วเราชอบแอบซุกใต้หมอนไว้ เพราะเขาไม่ให้เอาของอะไรไว้บนห้องในนั้น เผื่อตื่นมากลางดึกหรือระหว่างวันก็จะได้หยิบมาอ่าน

แต่ว่าจดหมายที่อ่านบ่อยที่สุดคือจดหมายจากอาจารย์เขาเขียนสั้นนะแต่ทำให้อ่านแบบไม่หยุดเลยว่า “ขอบคุณที่ทำให้เขาได้เป็นรุ่นพี่คณะอย่างที่ควรเป็น ขอบคุณที่ทำให้เขาได้เป็นอาจารย์อย่างที่ควรเป็นขอบคุณที่ทำให้เขาได้เป็นมนุษย์อย่างที่ควรเป็น” มันไม่ได้มีอะไรมากมาย แต่อยากขอบคุณเหมือนกันที่เราทำไปมันไม่สูญเปล่า

จดหมายแค่ไม่กี่ฉบับนั้นเราอ่านวนไปทุกวัน วันละไม่ต่ำกว่า 3-4 รอบ จดหมายแผ่นเล็ก ๆ มันเป็นกำลังใจที่ใหญ่มาก เพราะอยู่ข้างในนั้นเป็นกำแพงที่ตัดขาดโลกออกจากกัน ตัวกลางมีเพียงทนาย ญาติ และจดหมายนี่แหละ ที่ไม่ทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยวเกินไป ที่ทำให้เราถึงจะมาอยู่ในมันก็คุ้ม อย่างน้อยสังคมมันเปลี่ยนไปมากแล้ว มันทำให้คนตื่นรู้ไปมากแล้ว เราก็คิดว่ามันคุ้มแล้ว เราก็อยากชวนให้ทุกคนเขียนจดหมายไปให้เยอะเหมือนกัน

ตามจริงจดหมายนั้นมีเยอะมากจากโครงการของ Amnesty แต่ตอนนั้นไม่ได้รับเลย เพราะทัณฑสถานค่อนข้างเข้มงวดและผู้คุมนั้นไม่ว่างตรวจให้ ทางทนายเองก็บอกว่าของเรานั้นมีมาเยอะเหมือนกัน แต่เข้าไปได้จริง ๆ มีเพียง 20 ฉบับกว่าเอง จนออกมาก็มีติดออกมาแค่นั้น จนต้องให้พี่ส่งกลับมาข้างนอก อยู่บ้านนั่งอ่านเป็นกำลังใจและเมื่อดูรูปที่อยู่ในนี้ก็คิดถึงคนในนั้นเช่นกัน

“ขอบคุณจริง ๆ ที่ทำให้รู้ว่าพวกคุณไม่ลืมเรา คุณยังติดตามเรื่องราวในเรือนจำอยู่ และแม้รู้ว่าการสื่อสารด้วยจดหมายในเรือนจำมันลำบาก แต่ก็ขอบคุณมากยังยืนยันอยู่”

รุ้ง ปนัสยา เปิดเผยว่าหากเขียนจดหมายได้ 1 ฉบับ ก็จะเขียนถึงสถาบันตุลาการเช่นกัน ความว่า “ช่วยทำหน้าที่อย่างที่คุณควรจะทำได้ไหม ช่วยเป็นผู้พิพากษาอย่างที่คุณควรจะเป็นได้ไหม ช่วยเป็นสถาบันที่คงความยุติธรรมอย่างที่คุณควรจะเป็นได้ไหม เพราะทั้งองคาพยพนี้ไม่เห็นหนทางไปไหนของประเทศไทยนอกจากความเสื่อมโทรมลง ตอนนี้เราไม่แน่ใจว่าคุณถูกควบคุมมาจากใครหรือเปล่า มีใบสั่งหรือเปล่า ถ้าคุณจะยืนยันว่าทำหน้าที่ของตัวเองโดยไม่มีใครควบคุม ก็ช่วยทำให้เห็นหน่อย”

สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ บอกเล่าถึงความในใจจากลูกชายต่อการรับจดหมายในเรือนจำว่า เพนกวินอยู่ในห้องขังคนเดียวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพนกวินพูดเสมอว่าเวลาได้รับจดหมายจากข้างนอก มันเป็นกำลังใจอยากให้ตัวเองมีชีวิตอยู่ต่อไป มีแรงที่จะสู้ต่อไป เพราะเขาได้รับรู้ข่าวสาร อย่างน้องของเขาก็จะบอกข้อมูลข่าวสารให้เขาฟังโดยป่านทนาย พิมพ์ให้ทนายเอาเข้าไปให้ฟัง อย่างครั้งก่อนทีการเขียนจดหมายส่งไปให้เพนกวิน แล้วไปไม่ถึงทนายเองจึงอ่านให้ฟัง “เชื่อมั้ยวัน สองวัน ผ่านไป เขาอยากไปจดหมายฉบับนั้นเข้าไปอ่าน อ่านแล้วอ่านอีกฟังทนายพูดแล้วก็จะยิ้มพริ้มเลย”

“เพนกวิน”พยายามทำอย่างไรก็ได้เพื่อปลอบใจตัวเองให้มีอะไรทำ อย่างการแต่งกลอนให้ทนายฟังและนำออกมาบางฉบับ หลายฉบับก็พยายามหามาให้ส่งเข้าไป แต่อย่างที่ โตโต้-ปิยรัฐ ได้บอกไว้ห้ามส่งอะไรที่เกี่ยวกับการเมือง ห้ามแล้วห้ามอีก ยิ่งของเพนกวินยิ่งตรวจแล้วตรวจอีกอย่างละเอียด

“ข้างในไม่มีอินเทอร์เน็ต เราก็ back to basic เลย การเขียนจดหมายด้วยลายมือมันเป็นการสื่อสารด้วยลายมือ รับรู้ด้วยอารมณ์ ถึงแม้จะส่งยากเย็นแต่อะไรไม่เกินความพยายาม การสื่อสารด้วยจดหมายเป็นสิ่งสำคัญมากให้น้องทุกคนในเรือนจำมีความหวัง มีความสุข มีแรงใจที่จะอดทนต่อสู้ไปพร้อมกับพวกเรา”

หากแม่สุ สุรีย์รัตน์ เขียนจดหมายถึงสถาบันตุลาการอยากเขียนว่า “อยากให้แสดงความกล้า สติปัญญา วุฒิภาวะ ให้กับคนทุกคนที่เขาให้เกียรติคุณ ขอให้แสดงความกล้าหาญต่อสู้กับความอยุติธรรม” และอีกฉบับถึงทุกคนและองค์กรระดับนานาชาติว่า “ช่วยจับตาและยื่นมือเข้ามาช่วยว่าสิ่งนี้เป็นความอยุติธรรมต่อเรา เรามีเพียงมือเปล่า เจอผู้แทนประเทศไทยที่ไหนให้ถามเลยว่าประเทศคุณเป็นแบบนี้เหรอ และ sanction ได้เลย หากเป็นองค์กรเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศก็ส่งหนังสือถึงกระบวนการยุติธรรมในไทยด้วย”

ทนายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม กล่าวในฐานะตัวแทนของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้ยื่นส่งจดหมายให้คนในเรือนจำ กล่าวว่า “บ่อยครั้งหรือแทบทุกครั้งที่ผมไปเยี่ยมนักโทษในเรือนจำ คำถามสำคัญคือสถานการณ์ข้างนอกเป็นไงบ้าง จดหมายที่พวกเราส่งไปมีความสำคัญมาก เพราะการกักขังเหมือนถูกตัดขาดจากโลกใบนี้ ไม่มีทางรับรู้ว่าโลกภายนอกเกิดอะไรขึ้นบ้าง หลายครั้งที่ผมไปเยี่ยมพวกเขาก็เอาจดหมายของเพื่อน ๆ พ่อแม่ ๆ ไปให้พวกเขา วินาทีที่อ่านให้ฟังก็มีรอยยิ้ม หัวเราะขึ้นมา หรือเศร้าเสียใจที่รู้ว่าพวกเขาก็ถูกจับขังเช่นกัน”

“ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะพูดไปต้องจด ต้องเขียน ต้องปริ้นต์ออกไป ดังนั้นจดหมายนี้จึงเป็นสิ่งเดียวจะไปสื่อสารกับเขาได้ ทุกคนที่ได้รับได้รู้สึกว่าเขาไม่ได้โดดเดี่ยว เขารู้สึกว่าเขายังเชื่อมต่อกับโลกภายนอกอยู่ นั่นคือความสำคัญของจดหมายในมุมมองของผม”

ทนายรอน นรเศรษฐ์ เปิดเผยว่าหากได้เขียนจดหมาย อยากจะเขียน 1 ฉบับถึงสถาบันตุลาการ ความว่า “วันนี้สถาบันตุลาการต้องใช้อำนาจคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้เขารู้สึกว่าเขามีศาลเป็นที่พึ่ง ให้รู้สึกปลอดภัย แต่ในภาวะปัจจุบันนี้ในยุคที่รัฐกำลังใช้นิติสงครามกับประชาชน ศาลรับฝากขังทั้งที่เคยปฏิเสธในเรื่องเดียวกัน และศาลไม่ให้ประกันตัว ทำให้คนหนุ่มสาวและประชาชนรู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่มีที่พึ่ง อยากเรียกร้องไปยังสถาบันตุลาการให้มีความกล้าหาญ หากศาลยืนข้างประชาชน ประชาชนก็จะยืนข้างศาล”

เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ Amnesty international Thailand เผยว่า ในฐานะผู้คิดค้นแคมเปญเขียนจดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำภายใต้โครงการจาก Amnesty international ที่ช่วยขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชน สิ่งที่ทำมานั้นเราทำมาในหลายอย่างมากเราทำงานในประเทศไทยมาหลายปีมาและเชื่อว่าประเทศจะมีการพัฒนาในประเด็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนซึ่งมีความสำคัญมาก สิ่งที่ทำมา เช่น งานผู้ลี้ภัย การยุติการทรมาน การปกป้องนักสิทธิฯ และสิทธิเสรีภาพในการแสดงในการชุมนุม ซึ่งเชื่อว่าเสรีภาพในการแสดงออกนั้นเป็นหัวใจสำคัญในการเปิดใจเข้าพูดคุยกัน ดังนั้นผู้ที่อยู่ภายในเรือนจำตอนนี้ก็ถือได้เป็นการริดรอนสิทธิอย่างนึงเช่นกัน

แม้การสื่อสารข้างนอกจะมีเทเลแกรม เฟซบุ๊ก อะไรต่าง ๆ แต่ข้างในนั้นไม่มี สิ่งนึงที่ทำได้ไม่ว่าจะยุคไหนก็ตามการเขียนถึงคนข้างในจึงเป็นสิ่งสำคัญที่พวกเขาจะได้รับรู้เรื่องราวว่าข้างนอกเป็นอย่างไร และเป็นพื้นที่ยืนยันว่ามีคนคิดถึงเขายังมีคนที่เป็นห่วงเขา และคิดว่าสิ่งที่เขาทำมันถูกต้องและอยากให้ทำต่อไป ซึ่งอาจเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่ก็ยังเป็นการเยียวยาจิตใจ อีกอย่างเราเชื่อว่าจดหมายหลายฉบับสามารถกดดันรัฐได้จริง จดหมายนั้นอาจเป็นแค่ตัวเขียน แต่มันคือการรวมพลังของคนในสังคมเหมือนกัน

“องค์กร Amnesty international เป็นการเคลื่อนไหวของคนทั่วโลก สิ่งที่ถูกริดรอนในประเทศไทยเราเองก็ต้องส่งออกไปให้ต่างประเทศรับทราบ ว่าขบวนการเหล่านี้ยังอยู่และยังมีคนที่ถูกริดรอนสิทธิฯ อยู่”

จดหมายที่ถูกไปภายในเรือนจำประเทศไทยกำหนดให้เป็นตัวเขียนเท่านั้นไม่เกิน 10 บรรทัดเท่านั้น บางทีรูปวาดก็อาจไม่ให้เข้าไป เราเป็นผู้ส่งต่อให้ แต่คุณูปการในการริเริ่มก็มาจากทุกคนด้วย จดหมายเหล่านี้เป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่อยากให้สังคมเราดีขึ้น ว่าเรามีสิทธิ ว่าเราเท่าเทียมกัน และให้ผู้มีอำนาจกล้าเชื่อว่าคนในสังคมมีความสามารถ และเราเท่าเทียมกันจริง ๆ

Related Posts

Send this to a friend