HUMANITY

ล้อมวงคุย: ถอดบทเรียนเปิดประสบการณ์การทำข่าวค้ามนุษย์โรฮิงญา

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565 The Reporters จัดรายการ “ล้อมวงคุย” #ค้ามนุษย์ จากประสบการณ์ของ ฐปณีย์ เอียดศรีไชย โดยมีทศ ลิ้มสดใส พุฒิพงศ์ ธัญญพันธุ์ ณัฐนนท์ เจริญชัย ผู้สื่อข่าว The Reporters ธนกร วงศ์ปัญญา ผู้สื่อข่าว THE STANDARD และวศินี พบูประภาพ ผู้สื่อข่าว WorkpointTODAY ร่วมพูดคุย ภายหลังจากที่คณะก้าวหน้าร่วมกับพรรคก้าวไกล แถลงข่าวเบื้องหลังการอภิปรายทั่วไปในสภาผู้แทนราษฎรของนายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เกี่ยวกับขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาในพื้นที่ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งเชื่อมโยงกับปฏิบัติการสืบสวนสอบสวนที่นำโดย พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 8 จนท้ายที่สุดต้องยุติการสอบสวนและลี้ภัยไปประเทศออสเตรเลีย

ฐปณีย์ แบ่งปันประสบการณ์การติดตามรายงานข่าวขบวนการค้ามนุษย์ โดยเริ่มต้นอธิบายลำดับเหตุการณ์ว่า ย้อนไปในปี 2558 มีการพบหลุมศพของชาวโรฮิงญาที่เทือกเขาแก้ว ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา เป็นข่าวใหญ่มากที่พบ ซึ่งอยู่บริเวณ ชายแดนไทย-มาเลเซีย แต่จริงๆ แล้วข่าวการค้ามนุษย์มันเกิดมาก่อนหน้านั้นหลายปี

ต่อมาในปี 2552 เป็นครั้งแรกที่พบค่ายกักกันชาวโรฮิงญาอยู่ในสวนยางพาราที่ ต.ปาดังเบซาร์ มีการติดตามเรื่องการค้ามนุษย์ ค้าประเวณี หรือค้าแรงงานตามโรงงานต่างๆ หลังจากทราบข่าวการพบค่ายกักกันชาวโรฮิงญา ก็ได้ไปทำข่าว ซึ่งได้พบโรงนอน โรงครัว และมีร่องรอยของที่พักอาศัยของคนนับร้อย ซึ่งตำรวจควบคุมตัวได้ 10 กว่าคน และถูกนำไปที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)

ฐปณีย์ ระบุว่า การค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาเป็นหนึ่งในการค้ามนุษย์แรงงานข้ามชาติในเพื่อนบ้านของไทย ไม่ว่าจะเป็นชาวพม่า ไทใหญ่ ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่ถูกค้าแรงงานและเข้าเมืองมาผิดกฎหมาย แต่ชาวโรฮิงญาจะต่างจากแรงงานอื่นๆ เพราะเนื่องจากว่าเขาไม่ใช่พลเมือง ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีอะไรในการที่จะอยู่ในประเทศพม่าได้ในเวลานั้น ซึ่งมีเหตุจลาจลในเมืองซิตเว รัฐยะไข่ ทำให้ชาวโรฮิงญาจำนวนหนึ่งอพยพออกจากรัฐยะไข่ ส่วนที่ไม่ได้อพยพจากที่เคยอยู่ตามบ้าน ก็ย้ายไปอยู่ค่ายผู้อพยพกลายเป็นผู้พลัดถิ่นในประเทศ ซึ่งอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยหรือค่ายอพยพเมืองซิตเว เมืองมองดอ รัฐยะไข่

ชาวโรฮิงญาเริ่มอพยพมา บางส่วนมาทางแม่สอดหรือทางรถ แต่ด้วยรัฐยะไข่อยู่ติดกับทะเล ก็จะมีชาวโรฮิงญาที่ล่องเรือมา ซึ่งบางคนก็ต้องไปขึ้นเรือที่ชายทะเลบังกลาเทศ ก่อนที่จะแวะที่ประเทศไทยและไปมาเลเซีย นี่ก็เป็นเส้นทางของกระบวนการค้ามนุษย์ ว่าทำไมต้องมาเจอหลุมฝังศพอยู่ที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ต.ปาดังเบซาร์ ซึ่งพวกเขานั่งเรือมาจากรัฐยะไข่เพื่อมาขึ้นที่ เกาะสรอง จ.ระยอง พังงา ภูเก็ต ชายฝั่งอันดามันก่อนที่จะขึ้นรถไปที่สตูล หากขึ้นที่สตูล ก็จะถูกส่งไปอยู่ค่ายในเขาติดกับชายแดนมาเลเซีย ส่วนบางคนก็ถูกนำไปที่เทือกเขาแก้วหรือสวนยางชายเเดนไทย-มาเลเซีย

“ตั้งแต่ปี 52 ตอนนั้น พอเห็นลักษณะค่ายกักกัน ก็เริ่มตั้งคำถามว่าพวกเขามาได้อย่างไร จึงเริ่มทำข่าวสืบสวนสอบสวน ตั้งแต่ตอนนั้นน้อยคนที่จะรู้จักชาวโรฮิงญา ซึ่งได้ไปทำความรู้จักว่าเป็นชาวมุสลิมในเมียนมาร์ ที่มีการต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้รับสิทธิ์ความเป็นพลเมืองแล้วก็เกิดปัญหาจนทำให้ต้องอพยพมา ซึ่งต้องตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ บางคนยอมจ่ายเงินให้นายหน้าเพื่อเดินทางมา ซึ่งจะมีกระบวนการในการทำงานตามขั้นตอนต่างๆ จนถึงกักรอที่ป่าชายแดน และบ้างก็ถูกเรียกค่าไถ่” ฐปณีย์ กล่าว

ฐปณีย์ บอกเล่าถึงประสบการณ์ที่พบเจอการส่งตัวชาวโรฮิงญาเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 ว่า มีการนำเรือประมงไทยดัดแปลงเป็น “เรือมนุษย์” คือเรือที่ใช้ขนชาวโรฮิงญานับร้อยคนลอยลำมากลางทะเลมาร่วมเดือนกว่า ทางทหารเรือก็เข้ามาติดตามตรวจสอบ และให้การช่วยเหลือโดยการนำเฮลิคอปเตอร์มาให้น้ำและอาหาร ส่งคนมาซ่อมเรือหลังจากที่นายหน้าถอดเครื่องยนต์ออก

“พี่ขึ้นไปบนเรือลำนั้น ด้วยสไตล์การทำข่าวของเรา พอเราเห็นเรือ เราก็รีบเข้าไปเพื่อพูดคุย สอบถาม เก็บภาพ เพราะเราอยากเห็นมาตลอดว่าเรือที่ขนคคนโรฮิงญาเป็นแบบไหน ก็มาเจอตรงตามข้อมูลของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามีการดัดแปลงเป็นคอนโดใต้ท้องเรือ นอนอัดกันเป็นชั้น ๆ เขาบอกว่าเมื่อเดินทางมาร่วมเดือน นายหน้าถอดเครื่องยนต์ไป ทำให้เรือลอยลำอยู่สิบกว่าวัน ไม่มีอาหาร ไม่มีน้ำ และมีคนตายกว่าสิบกว่าคน นี่คือสภาพที่เห็น” ฐปณีย์ กล่าว

ฐปณีย์ ในฐานะที่เป็นนักข่าวคนเดียวที่อยู่บนเรือมนุษย์ในคืนนั้นตั้งแต่ 6 โมงเย็น ถึง 9 โมงเช้า ระบุว่า ข่าวที่รายงานออกไปทำให้เห็นถึงสภาพความสลดหดหู่ และดูเหมือนว่าไปคัดค้านกับสิ่งที่รัฐบอกว่าจะผลักดันออกไป ซึ่งเจตนาในคืนนั้นคือต้องการนำเสนอข้อเท็จจริงว่าสภาพของคนที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์เป็นแบบนี้ ไม่ได้มีเจตนาว่าประเทศไทยทำแบบนี้ไม่ถูกต้อง ไม่ได้พูดคำนั้นแบบที่ถูกโจมตี แต่รายงานข่าวเพื่อจะบอกว่าเราจะมีหนทางใดเพื่อช่วยเหลือคนเหล่านี้ที่อยู่ในสภาพแบบนี้ กลายเป็นทั้งข่าวที่ทำให้หลายคนรู้จักชาวโรฮิงญาด้วย

ฐปณีย์ อธิบายเจตนาว่าต้องการตีแผ่ขบวนการค้ามนุษย์ทั้งในบังกลาเทศ พม่า มาเลเซีย และไทยที่แม้จะดูเป็นแค่ประเทศทางผ่าน แต่แท้จริงไทยคือขบวนการหลักที่ทำเรื่องนี้ เพราะการนำคน 400 คนขึ้นเรือมานี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เรือลำใหญ่สัญชาติไทยแบบนี้ต้องมีคนดำเนินการดัดแปลงเพื่อขนคนได้ไม่ใช่ขนปลา ขณะเดียวกัน ทางการไทยก็ยังทำตามหลักการที่ถูกต้องคือการผลักดันไม่ใช่รับเข้า เพราะหากรับเข้าก็ถูกจับกุมและผลักดันกลับประเทศพม่า ซึ่งมีปัญหามาตลอด เพราะเขาไม่ต้องการถูกผลักดันกลับไปยังรัฐยะไข่ซึ่งไม่มีสิทธิพลเมือง

“ภาพนี้ (ภาพข่าว 3 มิติ) กลายเป็นเหตุการณ์ที่ถูกแคปไปเขียนข้อความต่าง ๆ นานา เรื่องว่าพี่เนี่ย สีหน้าพี่เหมือนเห็นอกเห็นใจ จะร้องไห้ เห็นใจพวกเขา ถ้าอย่างนั้นก็รับเราเขาเข้ามาสิ เป็นภาพจำที่พี่เองเสียใจที่โดนโจมตี เป็นความรู้สึกของคนที่อาจยังไม่เข้าใจเราว่าเราทำเพราะอะไร และเราไม่มีโอกาสมาชี้แจงว่าภาพนั้นไม่ได้แสดงออกมาเพื่อเกิดดราม่าอะไรเลย หรือใช้ความรู้สึกของการเป็นนักข่าวว่าเขาน่าสงสารแล้วประเทศไทยต้องรับเขา พี่ไม่มีเจตนาแบบนั้นในการแสดงความรู้สึกของตนเองให้เกินเลยจากการเป็นนักข่าว”

“แต่ข้างหน้าเรามีคนกำลังจะร้องไห้ด้วยความกลัว แล้วมาจับมือเราให้ช่วยเขาแล้วมือก็หลุดออกไปเมื่อเรือลอยออกไป เป็นความรู้สึกที่จะเห็นว่าเพื่อนมนุษย์ถูกปล่อยมือออกไปโดยที่เราช่วยเขาไม่ได้อย่างนั้นหรือ? คนเหล่านี้กำลังจะเดินทางออกไปโดยไม่รู้ชะตากรรม สิ่งที่พี่ทำได้ ณ เวลานั้นคือ พี่มีภาพนี้เพียงคนเดียว พี่เป็นนักข่าว ถ้าพี่ไม่เอาภาพข่าวเหล่านี้นำเสนอ พี่ก็คงไม่จำเป็นต้องเป็นนักข่าวอีก นั่นคือหน้าที่พี่ที่พี่จะทำ” ฐปณีย์ กล่าว

ฐปณีย์ เล่าต่อไปว่า ในคืนนั้นภาพข่าวนี้ก็เกือบจะไม่ได้ออกอากาศในรายการ ข่าว 3 มิติ เพราะเป็นข่าวที่ไปกระทบหรือขัดแย้งกับนโยบายความมั่นคง หรือบางคนอาจดูว่าจะทำให้รัฐบาลไทยดูแย่หรือเปล่า ก็มีการตีเจตนาเราว่าโจมตีรัฐบาลว่าไม่ช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมหรือเปล่า จนต่อมาก็มีการร้องขอมาว่าไม่ให้เราออกข่าวนี้อีก แต่ก็ยืนยันว่าขอให้ออกข่าวนี้

“เพราะเราไม่ได้แค่ทำข่าว แต่เรากำลังช่วยเพื่อนมนุษย์ที่กำลังเดินไปสู่ความตาย อย่ามองว่านี่เป็นแค่ข่าว แต่เรากำลังช่วยเพื่อนมนุษย์ 400 กว่าชีวิตที่อยู่กลางทะเล จนภาพนี้กลายเป็นภาพหลักฐานสำคัญในการฟ้องร้องผู้ต้องหาค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญากว่า 103 คน และมีหลายองค์กรระดับโลกเห็นข่าวก็ได้รับความช่วยเหลือจนถึงเกาะอาเจะห์ อินโดนีเซีย ได้อย่างปลอดภัยในอีกสองอาทิตย์ต่อมา”

ฐปณีย์ พูดถึงอีกประเด็นสำคัญว่าคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ถือเป็น “คดีประวัติศาสตร์” เพราะเกี่ยวข้องกับองค์กรค้ามนุษย์ข้ามชาติและองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ มีผู้ต้องหามากสุดถึง 103 คน ถูกจำคุกสูงสุด 98 ปีในคดีค้ามนุษย์ที่พิจารณาคดีเฉพาะเป็นคดีแรก ต้องกลับไปขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำสำนวนคดีนี้ได้สำเร็จ และพนักงานสอบสวนก็ให้พี่เป็น 1 ใน 2 พยานในคดีนี้

ฐปณีย์ เปิดเผยความรู้สึกหลังจากกระแสสังคมเปลี่ยนแปลงหลัง 6-7 ปีที่ผ่านมาว่า ถ้าวันนั้นท้อ ก็จะไม่กล้าทำเรื่องนี้ ไม่เป็นนักข่าวแล้ว ทำให้รู้สึกกลัวไปในที่สุด แม้วันนั้นจะกลัวเกิดประเด็นเดือดร้อน แต่คิดว่าถ้าเราไม่ทำเรื่องนี้ ก้ไม่ควรจะเป็นนักข่าวอีกแล้ว เราต้องหาเหตุผลว่าเพราะอะไรเขาถึงไม่เข้าใจ หรือเกลียดชังเรื่องนี้ เพราะความรู้น้อยไปหรือเปล่า เราต้องทำต่อสิ ไปดูพื้นที่จริงสิ จะทำให้คนที่อาจจะยังไม่เข้าใจได้เข้าใจมากขึ้น คนที่เกลียดเราหรือไม่รักเราอาจจะเกลียดเราน้อยลงหรือรักเรามากขึ้น ดังนั้น ความตั้งใจของพี่คือเดินหน้าต่อ ทำเรื่องโรฮิงญาต่อ นั่นคือการเดินทางไปที่รัฐยะไข่ด้วยวิถีทางที่ถูกต้อง เพื่อไปดูความเป็นอยู่ของชาวโรฮิงญา

จนกระทั่งได้พบกับแม่ของคนบนเรือมนุษย์ ที่เป็นห่วงความเป็นอยู่ของลูกหลังออกจากบ้านไปเกือบ 2 เดือนแล้ว และเมื่อลูกไปถึงอาเจะห์ก็โทรหา และขอบคุณที่ทำให้รู้ว่าลูกยังไม่ตายและรอดชีวิต ก็มีกำลังใจมากขึ้น ตลอดจนได้เจอบบบ้านของผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์ และได้เสียงสัมภาษณ์ของครอบครัวคนบนเรือ เป็นภาพหลักฐานในคดีค้ามนุษย์ต่อ รวมถึงสารคดีโรฮิงญาก็ได้รับรางวัลแสงชัย สุนทรวัฒน์ เป็นสารคดียอดเยี่ยม เหมือนเป็นรางวัลพูลิตเชอร์ของนักข่าว

“ไม่ว่าเหตุการณ์ผ่านไปนานแค่ไหน ถ้าเราไม่กลัว วันนี้คือคำตอบว่าเรายืนยันจะทำเรื่องนี้ เจตนาที่ดีของเราไม่ใช่แบบที่คนเข้าใจผิดในวันนั้น ณ วันนั้นคนอาจยังไม่เข้าใจ เรายังยืนหยัดที่จะทำ สิ่งที่เราตั้งใจเราอย่าไปหวั่นไหวหรือท้อ เพราะวันหนึ่งเราจะได้เจอกับวันแบบนี้แหละ วันที่สังคมเปิดรับที่จะเข้าใจ วันที่สังคมเห็นถึงปัญหานี้ร่วมกันและพร้อมเข้าใจไปกับสิ่งนี้ พี่ว่านี่แหละที่ทำให้ก้าวข้ามความกลัวเหล่านั้นมาได้”

ฐปณีย์ ย้ำว่า นักข่าวต้องมั่นใจว่าสิ่งที่นำเสนอไปเป็นข้อเท็จจริง ในวันหนึ่งมันจะยืนยันอยู่ว่าความจริงก็ยังเป็นความจริงอยู่ตลอดเวลา ไม่มีใครบิดเบือนได้

“งานนักข่าวเหมือนเป็นหนังหน้าไฟที่เราพร้อมยอมรับ ยืดอกรับฟีดแบคที่มันจะกลับมา อย่าหวั่นไหวกับสิ่งที่เราตั้งใจจะทำ แต่อย่ามั่นใจเกินไปว่าเราจะต้องถูกต้องหรือดีเสมอ นักข่าวก็คือมนุษย์คนหนึ่ง ถ้าเราทำอะไรไม่ถูกต้องเราก็ต้องฟังข้อติดชม เราต้องฟังต้องอ่านคิดทบทวน พิสูจน์ตัวเองว่าเราเป็นอย่างนั้นหรือไม่” ฐปณีย์ กล่าว

ฐปณีย์ อยากให้กรณีข่าวโรฮิงญาเป็นบทเรียนการทำงานของสื่อมวลชนวิชาหนึ่งเลยก็ได้ว่าสามารถนำคนเข้าคุกได้ เราอาจรู้สึกทำข่าวไปวัน ๆ แต่ภาพข่าวเหล่านี้นั้นมีประโยชน์มาก

“ทำไปเถอะ โดยเฉพาะนักข่าว สื่อมวลชน ปัจจุบันพี่ดีใจนะพี่มีน้อง ๆ นักข่าวรุ่นใหม่ที่เข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนและช่วยนำเสนอข่าว พี่ก็นอนตายตาหลับแล้วที่มีคนช่วยส่งต่อหน้าที่สื่อมวลชน” ฐปณีย์ กล่าว

Related Posts

Send this to a friend