HUMANITY

เสวนาในวันผู้ลี้ภัยโลก เผยสภาวะหนีภัยในไทยยังลำบาก หวังรัฐยกระดับมาตรฐาน

เสวนาวิกฤตผู้หนีภัยไทย-เมียนมา ในวันผู้ลี้ภัยโลก เผยสภาวะหนีภัยในไทยยังลำบาก หวังรัฐยกระดับมาตรฐาน-ประชาสังคมเติมเต็มกลไกช่วยเหลือ

วันนี้ (20 มิ.ย. 65) เวลา 15:00 น. คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ คณะก้าวหน้า Asean Parliamentarians For Human Rights (APHR) และสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดวงสนทนาสาธารณะ ในหัวข้อ ‘วิกฤตที่มองไม่เห็น: สถานการณ์ผู้หนีภัยชายแดน ไทย-เมียนมาหลังรัฐประหาร’ ดำเนินรายการโดย พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า ณ อาคารกิจกรรมนิสิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เริ่มกล่าวเปิดงานโดยการยกตัวอย่างกรณีการลี้ภัยในประเทศทิเบตที่ผู้ลี้ภัยต้องเผชิญกับสภาพอากาศเลวร้าย และกรณีของชาวโรฮิงญาที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ตลอดจนกรณีการลี้ภัยตามชายแดนไทย-เมียนมาภายหลังการรัฐประหาร ที่อยู่จำนวนหลายหมื่นคนในพื้นที่ไม่ไกลจากที่นี่ และเป็นประเด็นสำคัญของการเสวนาในวันนี้

“ผู้ลี้ภัยต่างมีความฝัน มีความหวัง ที่จะได้ใช้ชีวิตที่ดี มีลูกหลานเจริญเติบโต แต่นี่กลับเป็นสภาพชีวิตที่พวกเขาต้องเผชิญ ซึ่งไม่เหมือนในโฆษณาชวนเชื่ออย่างที่เราเคยเห็นกัน” ธนาธร กล่าวพร้อมทั้งเสนอแนวทางช่วยเหลือผู้ลี้ภัยใน 3 ช่องทาง ได้แก่

  1. การบริจาค เพื่อเยียวยา ป้องกันการสูญเสีย บรรเทาทุกข์เฉพาะหน้า
  2. การรณรงค์ทางการเมือง เพื่อให้รัฐบาลเปลี่ยนแนวนโยบายโอบรับผู้ต้องการความช่วยเหลือ
  3. การปกป้องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ เพื่อไม่ให้เกิดสงครามและการแบ่งแยกในอนาคต

“ประเทศไทยติดกระดุมผิดเม็ดแต่แรก” กรกนก วัฒนภูมิ จาก Fortify Rights บอกเล่าสถานการณ์ผู้หนีภัยที่ชายแดนไทย-เมียนมา โดยชี้แจงว่าเป็นการจัดการโดยทหารเป็นหลัก ตลอดจนสถานที่หลักในการให้ที่พักพิงคือ คอกวัวมหาวันเมยโค้ง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดเหตุระเบิด พร้อมทั้งมีห้องน้ำและอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะอย่างเพียงพอ จนกลายเป็นการช่วยเหลือกันเองมากกว่าจะเป็นการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ

กรกนก กล่าวต่อไปว่า รัฐไม่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ แต่ละจังหวัดมีการจัดการที่แตกต่างกันไป รวมไปถึงการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต่างก็มีอุปสรรคอย่างมากทั้งผู้หนีภัยฝั่งไทยและผู้หนีภัยฝั่งเมียนมา ตลอดจนไม่มีการคัดกรองระหว่างผู้หนีภัยกับผู้หางาน ไม่มีระบบการประกันตัวที่ชัดเจน และไม่มีช่องทางให้พวกเขาได้บอกเล่าเรื่องราวของเขาอย่างแท้จริง

นิติพล ผิวเหมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เริ่มกล่าวโดยการแนะนำตัวว่าต้นตระกูลตนเองมาจากผู้ลี้ภัยตระกูลเมี่ยน กล่าวถึงความเคลื่อนไหวในสภาผู้แทนราษฎรว่า มีการจัดทำรายงานศึกษาข้อเท็จจริงของรัฐสภาระหว่างประเทศ (International Parliamentary Inquiry: IPI) ร่วมกับรัฐสภาอาเซียนและรัฐสภานานาชาติ เพื่อจับตาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา

“ความฝันผมคือการนำโอกาสให้กับผู้ลี้ภัยต่อ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล และอดีตพรรคอนาคตใหม่ และในฐานะลูกหลานของผู้ลี้ภัยด้วย” นิติพล กล่าว

เสฏฐนันท์ ธนกิจโกเศรษฐ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมสิทธิมนุษยธรรมสากล องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ปีการศึกษา 2564 กล่าวถึงประเด็นผู้ลี้ภัยในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนว่า ประเด็นผู้ลี้ภัยเป็นประเด็นสำคัญที่ละเลยไม่ได้ แต่พบว่าผู้คนตื่นตัวกับหลากหลายประเด็นยกเว้นประเด็นผู้ลี้ภัย โดยมีข้อสันนิษฐานว่าผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องไกลตัว เนื่องจากมีปรัชญาที่อธิบายว่าคนมักช่วยเหลือและเห็นอกเห็นใจกว่าคนใกล้ตัวมากกว่า และในกรณีประเทศไทยคือเรามักจะไม่คำนึงถึงผู้ลี้ภัยที่เรามองว่าไม่เท่าเทียมกัน

“การอ้างเหตุผลในการส่งกลับผู้ลี้ภัยว่ากระทบต่อความมั่นคง ผมไม่เข้าใจว่าผู้ลี้ภัยจะเป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างไร เพราะพวกเขาเป็นกลุ่มเปราะบาง ยกเว้นประเทศไทยจะเปราะบางมากจริง ๆ” เสฏฐนันท์ กล่าวก่อนเสนอว่า เราควรเปลี่ยน “ความรู้สึกสงสาร” ที่ไม่มั่นคง เป็น “พันธะทางศีลธรรม” แทนที่ควรมีต่อเพื่อนมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติหรือศาสนาใด พร้อมสนับสนุนกลไกของภาคประชาสังคมมากกว่าภาครัฐในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย

ศักดา แก้วบัวดี นักแสดงและผู้ทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัย บอกเล่าประสบการณ์ว่า ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีผู้ลี้ภัยนอกจากโรฮิงญาและม้ง คือ เวียดนาม โซมาเลีย คองโก และใหญ่ที่สุดคือปากีสถาน ตามดินแดง ประชาอุทิศ จรัญสนิทวงศ์ บางนา รวมถึงที่ถูกขังใน ตม. สวนพลู ด้วย

“สภาพห้องขังใน ตม. เหมือนไว้ขังหมา คับแคบไม่มีที่ให้ขี่ให้เยี่ยว แค่เราอยู่ไม่กี่วันยังลำบาก แต่พวกเขากลับต้องอยู่เป็นเวลาหลายเดือน” ศักดา กล่าว

นอกจากนี้ Charles Santiago ประธาน APHR ให้ความเห็นผ่านวิดีทัศน์ว่า ปัญหาผู้ลี้ภัยถือเป็นความล้มเหลวในภูมิภาคอาเซียน ที่สมาชิกอาเซียนจำเป็นต้องปฏิบัติตามหลักการมนุษยธรรมสากล ยุติการเกลียดชังและเลือกปฏิบัติทางชาติพันธุ์ ไม่ใช้หลักการไม่แทรกแซง (Non-interference Principle) เป็นข้ออ้างในการเพิกเฉยต่อปัญหา โดยเฉพาะกรณีพฤติการณ์ของรัฐบาล มิน อ่องหล่าย ของเมียนมา และเรียกร้องให้สมาชิกอาเซียนร่วมมือกัน มุ่งคุ้มครองช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอย่างเหมาะสม

“…ไม่ควรมีใครต้องถูกบังคับให้เป็นผู้ลี้ภัย ปัญหาผู้ลี้ภัยจะหายไปหากมีสันติภาพในภูมิภาค หากเรากำจัดอาวุธและสงครามได้ปัญหาผู้ลี้ภัยจะหมดไป” Charles Santiago กล่าว

เรื่อง: ณัฐนนท์ เจริญชัย
ภาพ: พุฒิพงศ์ ธัญญพันธุ์

Related Posts

Send this to a friend