HUMANITY

เปิดคำพิพากษาประวัติศาสตร์ “คดีค้ามนุษย์โรฮิงญา” จำเลย 103 คน

คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ชาวโรฮิงญา – EP 1

“นับตั้งแต่หลบหนีจากประเทศไทย จนถึงวันนี้ 6 ปี 6 เดือน 3 วัน จากที่ผมปฏิบัติหน้าที่ ถูกกลั่นแกล้ง ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รัฐบาล จากผู้มีอำนาจ อย่างที่มีการนำไปอภิปรายในสภาฯ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งไม่ใช่การวางแผนมาใช้ชีวิตในต่างประเทศอย่างที่ถูกกล่าวหา แต่ผมต้องมาใช้ชีวิตผู้ลี้ภัยมาใช้ชีวิตในต่างแดน เหมือนผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย เลบานอน หรือพม่า ที่ต้องมาเรียนภาษาหางานทำ ไม่มีทรัพย์สินอะไร ถึงเวลานี้ผมรู้สึกได้รับความเป็นธรรมกลับมาครึ่งหนึ่งแล้ว และอีกครึ่งหนึ่งขาดหายไป คือผมเสียดายถ้าวันนั้นประเทศไทยเราเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง มีนายกรัฐมนตรี มีผู้นำที่มีความซื่อสัตย์ กล้าหาญ ให้กระบวนการยุติธรรมเที่ยงตรง ดำเนินไปจนสุดทาง ชีวิตราชการของผมที่ยังมีอีก 3 ปีและประสปการณ์ของผมด้านสืบสวนสอบสวน ผมจะสาวไปถึงปลาตัวใหญ่ได้อย่างแน่นอน”

การเปิดเผยของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ในฐานะคณะพนักงานสอบสอนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ทำให้สังคมไทยกลับมาสนใจ คดีค้ามนุษย์โรฮิงญาอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2558 ที่ พล.ต.ต.ปวีณ เป็นส่วนสำคัญในการรวบรวมพยานหลักฐาน เป็นเอกสาร จำนวน 699 แฟ้ม 271,300 แผ่นกระดาษ ออกหมายจับผู้ต้องหาได้ 103 คน

คดีมีการตัดสินในศาลชั้นต้น ไปเมื่อ วันที่ 19 ก.ค.2560 และชั้นศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2562 และขณะนี้อยู่ระหว่างฎีกา

The Reporters สรุปประเด็นสำคัญจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ติดตามดังนี้

คดีค้ามนุษย์โรฮิงญา หมายเลขดำ คม.27,28,29,32/2558 , คม.19,35,36,40,41,47,63,/2559 รวม 11 สำนวน เป็นคดีที่ พนักงานอัยการคดีค้ามนุษย์ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด และผู้เสียหายชาวโรฮิงญา 4 ราย เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายบรรณจง หรือโกจง ปองผล อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา จำเลยที่ 1 และเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งทหาร,ตำรวจ , ผู้บริหารการเมืองท้องถิ่น ,พลเรือนทั้งไทย และ ต่างชาติสัญชาติเมียนมา รวม 103 คน เช่น พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก และ นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ อดีตนายกอบจ. จ.สตูล ในความผิดฐานสมคบกับค้ามนุษย์ที่กระทำกับบุคคลอายุไม่เกิน 15 ปีและไม่เกิน 18 ปี และที่เกิน 18 ปี อันเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.ป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 , มีส่วนร่วมอาชญากรรมข้ามชาติ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 และความผิดอื่นตามประมวลกฎมายอาญา

จากพฤติการณ์เมื่อต้นเดือน ม.ค.2554 – 1 พ.ค.2558 จำเลยซึ่งร่วมขบวนการองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ได้หลอกลวงขู่บังคับชาวบังกลาเทศ และชาวโรฮิงญา รวม 80 คน จากประเทศบังคลาเทศและเมียนมา เข้ามายังประเทศไทย และส่งไปประเทศมาเลเชียโดยแบ่งหน้าที่กันทำ ทั้งเป็นนายหน้าชักชวนผู้เสียหายว่าจะส่งไปทำงาน ซึ่งมีทั้งผู้เสียหายที่หลงเชื่อและที่ไม่สมัครใจ โดยจะมีการใช้กำลังหรืออาวุธปืนประทุษร้ายและข่มขู่ผู้เสียหายด้วย เมื่อรวบรวมผู้เสียหายได้ 200-500 คน ก็จะส่งขึ้นเรือลำใหญ่ที่จอดลอยลำ รออยู่ในทะเล ที่มีผู้ควบคุมซึ่งมีอาวุธปืนไว้คอยควบคุมไม่ให้ผู้เสียหายหลบหนี

จากนั้นจะมีเรือเล็กรับผู้เสียหายขึ้นฝั่งไปพักในเขต จ.ระนอง จ.พังงา และมีการขายผู้เสียหายให้กับผู้อื่นคิดเป็นเงินไทยคนละ 60,000-70,000 บาท บางคนถูกกักขังในค่ายกักกัน หากต้องการออกไปต้องจ่ายค่าไถ่ เป็นเงิน 30,000-40,000 บาท ซึ่งเป็นลักษณะการกระทำเข้าข่ายการค้ามนุษย์และองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

จำเลยคนสำคัญในคดีนี้ มีเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เป็นทหาร เช่น พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก และผอ.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนแยกที่ 1 ระนอง ตำรวจ เช่น พ.ต.ท.ชาญ อู่ทอง, ร.ต.ท.มงคล สุโร , ร.ต.ต.นราทอน สัมพันธ์,ด.ต.อัศนีย์รัญ นวลรอด และนักการเมืองท้องถิ่น เช่น นายบรรณจง หรือโกจง อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ ,นายอ่าสัน หรือหมู่สัน หรือบังสัน อินทธนู อดีตสมาชิกสภาเทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ , นายประสิทธิ์ หรือเดช หรือบังเบส หรือบังเค เหล็มเหล๊ะ อดีตรองนายกเทศมนตรีตำบลปาดังเบซาร์ , นายอาบู หรือ ส.จ.บู ฮะอุรา อดีตสมาชิก อบจ.อำเภอควนโดน จ.สตูล , นายปัจจุบัน หรือโกโต้ง อังโชติพันธุ์ อดีตนายกอบจ. จ.สตูล,นายอนัส หะยีมาแซ อดีตส.จ.สตูล ส่วนพลเรือนจำเลยที่สำคัญ คือนายซอเนียง อานู หรืออันวา หรือโซไนท์ สัญชาติเมียนมา เป็นนายหน้าขบวนการค้ามนุษย์ในประเทศไทย

คดีนี้ ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2560 ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ ที่ศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษา 540 หน้า นานร่วม 12 ช.ม. ให้จำคุกนายบรรจง หรือโกจง , นายอ่าสัน หรือบังสัน , นายประสิทธิ์ หรือเดช จำคุกคนละ 78 ปี นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง จำคุก 75 ปี , นายซอเนียง จำคุก 94 ปี , พล.ท.มนัส จำคุก 27 ปี ส่วนจำเลยที่เหลือ 56 คน ที่มีตำรวจและพลเรือน รวมทั้งหมด 63 คน ให้จำคุก ตั้งแต่ 4-79 ปี

ขณะที่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ มีเนื้อหา 791 หน้า ศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์ พิพากษาแก้โทษในส่วนของ นายบรรจง หรือโกจง ,นายอ่าสัน หรือบังสัน ,นายประสิทธิ์ , นายสมยศ อังโชติพันธุ์ , นายปิยวัฒน์ หรือโกหย่ง พงษ์ไทย ให้เพิ่มจำคุกอีกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร รวมโทษของ นายบรรณจง นายอ่าสัน และ นายประสิทธิ์ เป็นคนละ 79 ปี ,นายสมยศ เพิ่มเป็นจำคุก 75 ปี , และนายปิยวัฒน์ เพิ่มเป็นจำคุก 80 ปี แต่เมื่อรวมลงโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกไว้คนละ 50 ปี

ศาลอุทธรณ์ ยังให้เพิ่มโทษ นายร่อเอ หรือเอ๋ สนยาแหละ , ร.ต.ต.นราทอน สัมพันธ์ และ พล.ท.มนัส คงแป้น ในความผิดค้ามนุษย์ฯ อีก 4 กรรม และความผิดให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรฯ จากเดิมจำคุกนายร่อเอ เวลา 14 ปี 8 เดือน เป็นจำคุก 48 ปี 40 เดือน ส่วนร.ต.ต.นราทอน และพล.ท.มนัส จากจำคุกคนละ 27 ปี เป็นให้จำคุก 82 ปี แต่เมื่อรวมลงโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกสูงสุดไว้คนละ 50 ปี

ส่วนนายปัจจุบัน หรือโกโต้ง ที่ศาลชั้นต้นจำคุก 75 ปี และนายซอเนียง อานู นายหน้าชาวเมียนมา จำคุก 94 ปีที่รวมลงโทษสูงสุดแล้วให้จำคุก 50 ปีนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่ได้พิพากษาแก้โทษ จึงยืนผลตามศาลชั้นต้น

นอกจากนี้ศาลอุทธรณ์ยังได้เพิ่มโทษจำเลยที่เกี่ยวข้องฐานสมคมค้ามนุษย์ มีโทษจำคุก จาก 23 ปี เป็น 77 ปี จาก 17 ปี เป็น 57 ปี เช่น นายอาบู หรือ สจ.บู กับ พ.ต.ท.ชาญ อู่ทอง เดิมจำคุก 27 ปี เป็นจำคุก 81 ปี , นายสราวุธ หรือบังเครา พรหมกะหมัด เดิมจำคุก 15 ปี 4 เดือน เป็นจำคุก 49 ปี 28 เดือน , แต่เมื่อรวมลงโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกสูงสุดไว้ 50 ปี ส่วนจำเลยที่มีโทษ จำคุก 11 ปี 6 เดือน เป็นจำคุก 38 ปี 6 เดือน

นายสุวรรณ หรือโกหนุ่ย แสงทอง ให้เพิ่มฐานสมคบค้ามนุษย์ฯ อีก 4 กรรม และฐานร่วมกันพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรฯ 1 กรรม เดิมจำคุก 22 ปี เป็นจำคุก 77 ปี , นายชาคริต หลงสาม๊ะ เดิมจำคุก 23 ปี เป็นจำคุก 78 ปี

นายสมรรถชัย หรือโบ้หรือแรมโบ้ ฮะหมัด ให้เพิ่มโทษฐานสมคบกันค้ามนุษย์ฯ อีก 4 กรรม และฐานร่วมกันพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรฯ 2 กรรม เป็นจำคุก 48 ปี 48 เดือน , นายอรัณ หนูอินทร์ แต่เมื่อรวมลงโทษทุกกระทงแล้ว ให้จำคุกสูงสุดไว้ 50 ปี

นอกจากนี้ในกลุ่มที่เคยพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาให้ นายอนัส หะยีมะแซ , ร.อ.วิสูตร บุนนาค จำเลยที่ 90 พิพากษาให้ลงโทษฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติฯ 1 กรรมกับฐานสมคบกันค้ามนุษย์ฯ 6 กรรม และความผิดเกี่ยวกับคนต่างด้าวอีก 2 กรรม เป็นจำคุกคนละ 82 ปี ,นายโกเซี่ย อังโชติพันธุ์ จำเลยที่ ให้จำคุก 75 ปี แต่เมื่อรวมลงโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกสูงสุดไว้ 50 ปี

นายชินพงษ์ ชาตรูปะชีวิน จากยกฟ้อง เป็นให้ลงโทษฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติฯ 1 กรรม กับฐานสมคบกันค้ามนุษย์ฯ 6 กรรม และความผิดเกี่ยวกับคนต่างด้าวอีก 1 กรรมเป็นจำคุก 77 ปี แต่เมื่อรวมลงโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกสูงสุดไว้ 50 ปี รวมจำเลยที่ศาลเคยยกฟ้อง แก้โทษให้จำคุกมีทั้งสิ้น 17 คน

ศาลอุทธรณ์ ยังพิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องนายถาวร หรือบังวร มณี กับนายผิน ร่วมบัว จากเดิมที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 49 ไว้ 23 ปี ส่วนจำเลยที่ 101 จำคุก 74 ปี โดยศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งให้ขังจำเลยที่ยกฟ้องในชั้นอุทธรณ์นี้รวม 14 คนไว้ระหว่างฎีกา และนอกจากที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว ส่วนอื่นก็ให้เป็นไปตามศาลชั้นต้นตัดสิน

จากผลคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ พบว่ามีจำเลยที่แก้โทษเพิ่มสูงขึ้นรวมทั้งสิ้น 39 คน จากเดิมที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกไว้ 62 คน และในส่วนของ 62 คนนั้นมีที่พิพากษาแก้ให้ยกฟ้อง 2 คน รวมมีจำเลยเดิมถูกลงโทษทั้งสิ้น 60 คน

นี่เป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และ ศาลชั้นต้น ที่เป็นเพียงการกำหนดโทษ ในคดีค้ามนุษย์และอาชญากรข้ามชาติ ที่มีรายละเอียดแห่งคำพิพากษาที่กลายเป็นคดีประวัติศาสตร์

ติดตามพฤติการณ์ในคำพิพากษาใน Ep2
ได้จาก The Reporters

Related Posts

Send this to a friend