HUMANITY

พล.ต.อ.รอย ตามความคืบหน้าช่วยชาวโรฮิงญาถูกทิ้งกลางทะเล

พล.ต.อ.รอย ลงพื้นที่สตูล ตามความคืบหน้าช่วยชาวโรฮิงญาถูกปล่อยกลางทะเล กำชับทุกหน่วยตรวจเข้มเส้นทางธรรมชาติ พร้อมแจงปมเร่งผลักดันโรฮิงญาออกนอกประเทศ

วันนี้ (14 มิ.ย. 65) พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.)   เดินทางร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าคดีโรฮิงญา 59 คนถูกทิ้งกลางเกาะทะเลสตูล ที่ห้องประชุมตำรวจภูธรจังหวัดสตูล ก่อนที่จะลงพื้นที่ไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 436 อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล พร้อมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)

สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้ เนื่องจากมีการนำเสนอข่าวคลาดเคลื่อนว่า เจ้าหน้าที่รีบผลักดันชาวโรฮิงญาออกจากไทย โดยขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสตูล แรงงานจังหวัดสตูล และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ช่วยเหลือตามหลักสิทธิมนุษยชน และอยู่ระหว่างขั้นตอนของการตรวจสอบสถานะบุคคล คัดแยกผู้เสียหายว่าเข้าข่ายค้ามนุษย์หรือไม่ เบื้องต้นยังไม่พบคนไทยเข้าไปเกี่ยวข้อง

โดยชาวโรฮิงญามีบัตร UNHCR ที่ขึ้นทะเบียนในสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ จำนวน 26 คน ซึ่งได้ประสานไปยัง UNHCR ให้ตรวจสอบสถานะบุคคลของชาวโรฮิงญาทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้หากพบเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จะส่งเข้าสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 หากไม่เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จะนำส่งเข้าศูนย์กักกัน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522

พล.ต.อ.รอย ยังได้มอบนโยบายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีพบบุคคลต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย ที่คาดว่าจะเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ขอให้ปฏิบัติตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism : NRM) และต้องสืบสวนขยายผลตรวจสอบเส้นทางการเงิน พิจารณาว่า เข้าข่ายองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติหรือไม่ รวมทั้งดูแลสุขอนามัย และรักษาพยาบาลให้กับผู้เสียหายที่อยู่ในขบวนการคัดแยก (Reflection Period) พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มมาตรการป้องกันสกัดกั้นทั้งทางบก และทางทะเล โดยเฉพาะจุดล่อแหลมช่องทางธรรมชาติ ที่ไม่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง และกำชับเจ้าหน้าที่ข้าราชการตำรวจทุกฝ่ายไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการลักลอบขนคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

Mr.Peter Grady เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองอาวุโส UNHCR เปิดเผยว่า UNHCR พร้อมที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลไทย เพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงญา และหาทางออกอย่างยั่งยืน จึงจะเข้าพูดคุยกับชาวโรฮิงญาทั้ง 59 คน ถึงความต้องการในการคุ้มครองระหว่างประเทศ เพื่อกำหนดแนวทางในการช่วยเหลือต่อไป เพราะชาวโรฮิงญากลุ่มนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ออกมาจากเมืองค็อกซ์บาซา ประเทศบังกลาเทศ

จากการรายงานของกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 6 ระบุว่า ปัจจุบันไทยมีชาวโรฮิงญาอยู่ราว 111 คน อยู่ในการดูแลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 92 คน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 11 คน และอยู่ในเรือนจำอีก 1 คน ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ประสงค์ไปยังประเทศที่ 3 และต้องการชีวิตที่ดีขึ้น แต่กระบวนการคัดแยก และให้ความช่วยเหลือของ UNHCR ใช้เวลาเนิ่นนานหลายปี จึงทำให้ชาวโรฮิงญาบางส่วน พยายามหลบหนีออกจากสถานที่พักพิง

เรื่อง/ ภาพ: ณัฐพร สร้อยจำปา

Related Posts

Send this to a friend