HUMANITY

ภาคประชาสัมคมห่วงการช่วยเหลือผู้อพยพยังเข้าไม่ถึง หวัง UNHCR เข้าช่วยเหลือหลังยืดเยื้อกว่า 1 เดือนแล้ว

วันที่ 8 พ.ค.64 The Reporters พบว่า กระเป๋าเป้ยังชีพสำหรับเด็ก ที่มูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล จัดเตรียมไว้ประมาณ 500 ชุดยังคงวางไว้ที่สำนักงานในอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน หลังจากไม่สามารถนำส่งให้ผู้อพยพชาวกะเหรี่ยง ที่หนีภัยการสู้รบมายังประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน ที่ส่วนใหญ่จะมีเด็ก ผู้หญิง และคนชรา ภายในถุงเป้ มีรองเท้าเด็ก ผ้าห่ม ขนม นม และตุ๊กตา ที่นายสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล บอกว่า นี่เป็นสิ่งของจำเป็นเบื้องต้นที่สำคัญต่อชีวิตของผู้อพยพ ที่พวกเขากำลังเผชิญกับความตาย มาไม่ต่ำกว่า 1 เดือนแล้ว

จากจำนวนผู้อพยพกว่า 2,000 คนที่รัฐไทยจัดให้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว 4 จุดตามลำห้วยในต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน จุดใหญ่สุดคือผู้อพยพจากค่ายอีตูท่า กว่า 1 พันคนในห้วยอุมปะ พบว่ากำลังขาดแคลนอาหาร เพราะที่นำติดตัวมาได้ เป็นของบริจาคจาการสู้รบเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ที่มีการส่งทางเรือไปได้เล็กน้อยเท่านั้น การอพยพครั้งใหม่ พวกเขาจึงมีข้าวสารมาครอบครัวไม่ถึง 2 ลิตร ทำให้ต้องอดมื้อกินมื้อ จึงไม่เพียงพออย่างที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยรายงาน และมีเด็กทารกที่ท้องร่วง และไข้มาลาเรีย จึงอยากให้มีการเปิดทางช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยด่วน

“ผ่านมา 10 วัน การนำสิ่งของช่วยเหลือผู้อพยพที่อยู่ในฝั่งไทย มีปัญหามาตลอด ไม่เคยได้รับอนุญาตเลย การต่อลมหายใจให้ผู้อพยพ ทำเท่าที่เราทำได้ อาศัยชุมชนข้างเคียง และตอนนี้จุดผ่อนปรน ถูกสั่งปิด การส่งทางเรือทำไม่ได้ และหมู่บ้านทางบก มีการตั้งด่านเข้มขึ้น ทั้งทหารดำ ทหารเขียว ป่าไม้ เป็นปัญหาในทางปฏิบัติที่เราส่งของไปช่วย อาหารเบื้องต้นที่ติดตัวมา เป็นรอบที่เราเอาไปส่งรอบก่อน เช่นที่ห้วยอุมปะ เป็นคนมาจากค่ายอิตูท่า อยู่ได้ไม่กี่วัน มีข้าวสาร ลิตรสองลิตร ต้องอดมื้อกินมื้อ ต้องแบ่งกันกิน เราต้องประเมินว่าเอายังไงต่อ การคุยกับผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอน พยายามหาแนวทาง ที่ไปคุยกับทางผู้ว่า จริงๆก่อนไปคุยกับผู้ว่า เราคุยกับในระดับพื้นที่ ทางนายอำเภอยังตัดสินใจไม่ได้ “ สันติพงษ์ มูลฟอง ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคลกล่าว

ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ 10 น.วันที่ 7 พ.ค.64 ทหารกะเหรี่ยง KNU ได้เข้ายึดฐานอูถูท่า ของกองทัพเมียนมา ได้อีก 1 ฐาน เป็น 3 ฐานริมน้ำสาละวิน ซึ่งอยู่เหนือบ้านแม่สามแลบ ก่อนถึงบ้านท่าตาฝั่ง มีการเผาทำลายค่าย และยึดอาวุธไปจำนวนหนึ่ง ทำให้หลังจากนั้นไม่นาน กองทัพเมียนมา ใช้เครื่องบินรบโจมตีพื้นที่ชั้นในของกองพล 5 เขตมือตรอ แสดงให้เห็นว่า แม้กองทัพเมียนมาจะประกาศหยุดยิงอีก 1 เดือน

แต่ยังมีการสู้รบในรัฐกะเหรี่ยง ทำให้ประชาชนกว่า 3 หมื่นคนยังกลายเป็นผู้พลัดถิ่นในประเทศยังคงหลบหนีลูกระเบิดทั้งกลางวันและกลางคืน ท่ามกลางไร่นาที่เสียหาย จึงคาดหวังว่าทหารกะเหรี่ยงจะได้รับชัยชนะโดยเร็ว

“ความกังวลตอนนี้คือกลัวจะอดตาย หนาวตาย เขามายิงทั้งกลางวัน กลางคืน ฝนก็ตก เราทนไม่ไหวแล้ว จะกินก็กินไม่ลง กลัวตนมือตัวสั่น ก็หวังให้ได้ชัยชนะโดยเร็ว” ชาวกะเหรี่ยงในเขตมรือตรอกล่าว

ซึ่งยังมีผู้อพยพอยู่ตามป่า ตามถ้ำในฝั่งรัฐกะเหรี่ยง ไม่กล้ากลับมาฝั่งไทย เพราะกลัวจะถูกผลักดันกลับ

ในขณะที่ พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน เปิดเผยถึง การเข้าพบ นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ของเครือข่ายภาคประชาชน เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อหารือถึงแนวทางช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยมีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้หนีภัยการสู้รบ มา 1 ชุด เป็นความหวังหนึ่งที่จะให้เห็นกระบวนการทำตามที่แท้จริง แม้จะมีสถานการณ์โควิด-19 แต่ในพื้นที่ กองพล 5 รัฐกะเหรี่ยง เป็นพื้นที่ป่าที่ไม่มีการแพร่ระบาด จึงอยากเห็นแนวทางที่ดีกว่านี้ รวมถึงการแสดงบทบาทจากองค์ระหว่างประเทศ เช่น สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ด้วย

“ความหวังสูงสุดของเราคือการมีคณะทำงาน เราเองส่งรายชื่อคณะทำงานไปยังผู้ว่าฯแล้ว หวังว่า คณะทำงานเกิดขึ้นจริง ถ้าเรียกประชุม เราจะได้ทำแผน การช่วยเหลือเร่งด่วน ซึ่งไม่รู้จะเกิดขึ้นเร็วไหม ช่วงระหว่างรอ อะไรทำได้ก็ต้องทำ ความจำเป็นจริงๆอาหาร ยารักษาโรค น้ำ เนื่องจากฝนตก น้ำในลำห้วย ดื่มไม่ได้เลย มีเด็กท้องร่วง ท้องเสีย เป็นปัจจับพื้นฐานมาก หากมีมุ้ง มีผ้าห่ม ถ้าบรรเทาทุกข์ได้ยิ่งดี”

นายสันติพงษ์ ระบว่า ข้อมูลของทางการมีความขัดแย้งกันมาก ที่ทางฝ่ายทหารบอกว่า ปัจจัยในการดำรงชีพ มีเพียงพอ ขอคัดค้าน ไม่จริง เป็นอย่างยิ่ง พี่น้องอดตายแน่นอน บางส่วนทีมพวกเราที่ส่งไปให้ก่อนหน้านี้ จึงอาจไม่เพียงพอ โดยเฉพาะ กับ เด็ก และหญิงมีครรภ์ ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคมาลาเรียด้วย

“เราค่อนข้างคาดหวัง กับ UNHCR น่าจะมีอำนาจมาชี้แนะ ชี้นำ แต่เราไม่รู้ว่าเขาอาจจะเกรงใจกันเรื่องอะไร ยังไม่เห็นองค์กรระหว่างประเทศมาทำงานอย่างเปิดเผยในพื้นที่เลย”

คณะทำงานเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้หนีภัยการสู้รบชายแดนไทย-เมียนมา ยังเป็นห่วงการผลักดันกลับ ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นในเวลานี้ เพราะสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย และอยากเห็นการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จริงจังมากกว่า การให้เพียงพื้นที่ปลอดภัยแล้วให้ผู้ลี้ภัยอยู่อาศัยกันตามยะถากรรม ซึ่งจากการสอบถามพวกเขายืนยันว่าขอลี้ภัยเพียงชั่วคราวเท่านั้น ไม่มีใครปราถนาที่จะต้องอยู่ในค่ายผู้อพยพเหมือนอีกเกือบ 1 แสนคน ที่ไม่ได้กลับบ้านมาเกือบ 30 ปีแล้ว

Related Posts

Send this to a friend