HUMANITY

เมื่อร้อยละ 1 ของประชากรโลกกลายเป็นผู้พลัดถิ่น

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เรียกร้องประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ขยายความช่วยเหลือมอบที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นหลายล้านคนจากความขัดแย้ง การประหัตประหาร หรือเหตุการณ์รุนแรงที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน สืบเนื่องจากรายงานประจำปีของ UNHCR ที่เปิดเผยวันนี้ว่าการถูกบังคับให้พลัดถิ่นส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติมากกว่าร้อยละ 1 ซึ่งหมายถึง 1 ใน 97 คนของประชากรโลก และอัตราการได้กลับสู่ประเทศบ้านเกิดของผู้คนที่หนีออกจากประเทศนั้นลดน้อยลงทุกที

รายงานประจำปีของ UNHCR หรือ แนวโน้มโลก (Global Trends report) ที่เปิดเผยสองวันก่อนวันที่ 20 มิถุนายน ที่ตรงกับวันผู้ลี้ภัยโลก เปิดเผยว่าจำนวนผู้พลัดถิ่นทั่วโลก ณ ปลายพ.ศ. 2562 สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 79.5 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนผู้พลัดถิ่นที่สูงที่สุดที่ UNHCR เคยพบมา

รายงานยังระบุว่า ความหวังของผู้ลี้ภัยที่จะพบจุดจบของการพลัดถิ่นในเร็ววันนั้นลดน้อยลงไปทุกที ในทศวรรษที่ 1990 โดยเฉลี่ยผู้ลี้ภัยจำนวน 1.5 ล้านคนสามารถเดินทางกลับบ้านได้ต่อปี แต่ในทศวรรษหลังจากนั้น อัตราเฉลี่ยลดลงมาที่ประมาณ 385,000 คนต่อปี แสดงให้เห็นถึงอัตราการเติบโตของการพลัดถิ่นในปัจจุบันที่ขยายตัวเกินกว่าการหาทางออกไปมาก

“เราได้เห็นสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปว่าการถูกบังคับให้พลัดถิ่นในปัจจุบันไม่เพียงแต่ขยายวงกว้างขึ้นแต่ยังเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่จำกัดอยู่ในระยะเวลาอันสั้นหรือชั่วคราวอีกต่อไป” นายฟิลลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าว “ผู้คนไม่สามารถถูกคาดหวังให้อาศัยอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายเป็นเวลาหลายปีอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยไม่มีโอกาสจะได้กลับบ้านหรือมีความหวังในการสร้างอนาคตใหม่ในที่ๆ เขาอยู่ เราต้องการทัศนคติใหม่ที่ได้รับการยอมรับต่อผู้คนที่ต้องหนีออกจากประเทศ ควบคู่ไปกับความมุ่งมั่นในการคลี่คลายความขัดแย้งที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนานหลายปีและเป็นต้นเหตุของความทุกข์ทรมานที่ตามมาอย่างมหาศาล”

รายงานประจำปีของ UNHCR เปิดเผยว่าผู้คนจำนวน 79.5 ล้านคน พลัดถิ่นภายในปลายปีที่ผ่านมา โดย 45.7 ล้านคนคือจำนวนผู้คนที่ต้องพลัดถิ่นภายในประเทศ และที่เหลือคือจำนวนผู้พลัดถิ่นที่อื่นๆ ในส่วนนี้ 4.2 ล้านคนกำลังรอผลการพิจารณาการยื่นขอลี้ภัย และ 29.6 ล้านคนเป็นผู้ลี้ภัย หรือกลุ่มอื่นที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่นจากประเทศของตน

การเพิ่มขึ้นของตัวเลขในหนึ่งปีจาก 70.8 ล้านคนเมื่อปลายพ.ศ. 2561 มีผลมาจากสองปัจจัยหลัก หนึ่งคือสถานการณ์การพลัดถิ่นครั้งใหม่ที่มีความน่ากังวลในพ.ศ. 2562 โดยเฉพาะในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ภูมิภาคซาเฮล เยเมน และในซีเรียที่ความขัดแย้งยืดเยื้อมาถึงปีที่ 9 ส่งผลให้เกิดผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัย และผู้พลัดถิ่นภายในประเทศมากถึง 13.2 ล้านคน หรือ 1 ส่วน 6 ของจำนวนผู้พลัดถิ่นทั่วโลก ปัจจัยที่สองคือการนำเสนอที่ชัดเจนขึ้นต่อสถานการณ์ของชาวเวเนซุเอลาที่หนีออกมานอกประเทศ หลายคนไม่ได้ลงทะเบียนป็นผู้ลี้ภัยหรือยื่นขอลี้ภัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่การมอบความคุ้มครองในกรณีที่มีความอ่อนไหวก็มีความจำเป็น

เบื้องหลังตัวเลขเหล่านี้คือ ชีวิตของผู้คนจำนวนมากและเป็นวิกฤตที่มีความเฉพาะตัวสูง มีเด็กจำนวนมากขึ้น (ประมาณ 30-34 ล้านคน หลายหมื่นคนเป็นเด็กที่เดินทางโดยลำพัง) อยู่ท่ามกลางประชากรที่พลัดถิ่น ซึ่งเทียบเท่ากับจำนวนประชากรในประเทศออสเตรเลีย เดนมาร์ก และมองโกเลียรวมกัน ในขณะเดียวกันอัตราส่วนของผู้พลัดถิ่นอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 4) อยู่ในระดับต่ำกว่าจำนวนประชากรโลกทั้งหมดมาก (ร้อยละ 12) เป็นสถิติที่แสดงให้เห็นถึงความสะเทือนใจ ความสิ้นหวัง ความเสียสละ และการต้องพลัดพรากจากคนที่ตนรัก

8 สิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับการถูกบังคับให้พลัดถิ่น

  • มีผู้คนอย่างน้อย 100 ล้านคน ที่ถูกบังคับให้หนีออกจากบ้านเกิดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาพลัดถิ่นอยู่ในหรือนอกประเทศของตน ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศอียิปต์ ประเทศที่มีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับที่ 14 ของโลก
  • การพลัดถิ่นเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ตั้งแต่พ.ศ. 2553 (จาก 41 ล้านคนเป็น 5 ล้านคนในปัจจุบัน)
  • ร้อยละ 80 ของผู้พลัดถิ่นทั่วโลกอาศัยอยู่ในประเทศหรือพื้นที่ที่ขาดความมั่นคงทางด้านอาหารและเสี่ยงต่อทุพโภชนาการอย่างรุนแรง และในหลายประเทศยังมีความเสี่ยงเรื่องสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติอีกด้วย
  • จำนวนผู้ลี้ภัยมากกว่า 3 ใน 4 (ร้อยละ 77) ต้องพลัดถิ่นอย่างยาวนาน เช่น สถานการณ์ในประเทศอัฟกานิสถานที่ยืดเยื้อมานานถึง 5 ทศวรรษแล้ว
  • จำนวนผู้ลี้ภัยมากกว่า 8 ใน 10 คน (ร้อยละ 85) อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยส่วนมากคือประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับประเทศที่ลี้ภัยมา
  • 2 ใน 3 ของจำนวนผู้พลัดถิ่นที่ต้องออกมานอกประเทศ มาจาก 5 ประเทศหลัก คือ ซีเรีย เวเนซุเอลา อัฟกานิสถาน ซูดานใต้ และเมียนมา
  • รายงานประจำปีของ UNHCR นับกลุ่มประชากรผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยหลักทั้งหมด รวมถึงผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ 6 ล้านคนที่อยู่ในความคุ้มครองของสำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์
  • เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในพ.ศ. 2573 ว่าด้วยเรื่อง “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ได้หมายรวมผู้ลี้ภัยเข้าไว้ในวาระแล้ว โดยต้องขอขอบคุณคณะกรรมาธิการด้านสถิติแห่งสหประชาชาติที่ได้อนุมัติข้อชี้นำใหม่เกี่ยวกับผู้ลี้ภัย เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

Related Posts

Send this to a friend