HUMANITY

ประธานศาลฏีกา และประธานศาลปกครองสูงสุด แต่งตั้งกรรมการสิทธิมนุษยชน ชั่วคราว 4 คน ทำหน้าที่จนกว่าจะมี กสม.ชุดใหม่

เมื่อวันศุกร์ ที่ 1 พ.ย.2562 ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดได้นัดหารือเพื่อร่วมกันแต่งตั้งบุคคลเพื่อทำหน้าที่แทนผู้ปฏิบัติหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นการชั่วคราว ซึ่งประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดได้ร่วมกันพิจารณาในข้อกฎหมาย ประวัติและผลงานของผู้อยู่ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เหลืออยู่แล้ว เห็นว่า

นายวัส ติงสมิตร ผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งยังเป็นผู้มีประสบการณ์ในการสอนวิชากฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนหลายแห่งเป็นเวลายาวนาน จัดเป็นผู้มีคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 มาตรา 8(2)

ส่วนนางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง และ นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อพิจารณาจากประวัติและผลงานก่อนเข้ารับหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตลอดจนประวัติและผลงานในขณะปฏิบัติหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เห็นว่า มีผลงานโดดเด่นเป็นประจักษ์ในด้านวัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตของไทย ที่ยังประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จัดเป็นผู้มีคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 มาตรา 8(5)

ต่อมาประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดได้ร่วมกันพิจารณารายชื่อของบุคคล ที่เลขาธิการวุฒิสภาในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติส่งบัญชีรายชื่อมาว่าเป็นบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และรายชื่อ ของบุคคลที่แจ้งความประสงค์ด้วยตนเองเพื่อรับการแต่งตั้งจากประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด

โดยเมื่อพิจารณาจากประวัติ การศึกษา ความรู้ และผลงานที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมา เห็นว่า

นายสมณ์ พรหมรส
นางสาวอารีวรรณ จตุทอง
นางภิรมย์ ศรีประเสริฐ
นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์

เป็นผู้ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นการชั่วคราว จึงร่วมกัน มีคำสั่งแต่งตั้งบุคคลทั้งสี่ และมอบหมายให้สำนักประธานศาลฎีกาแจ้งคำสั่งแต่งตั้งบุคคลทั้งสี่ไปยังผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไปตามอำนาจหน้าที่

สำหรับการแต่งตั้ง กรรมการสิทธิมนุษยชนชั่วคราว เกิดขึ้นหลังจาก นายวัส ประธาน กสม.ได้ยื่นหนังสือถึงประธานศาลฏีกาและศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 31 ก.ค. จนถึง 12 ก.ย. นายวัสได้มีหนังสือด่วนที่สุด รวม 7 ฉบับ เพื่อขอให้ร่วมกันแต่งตั้งบุคคล เป็น กสม. เป็นการชั่วคราว

ต่อมาวันที่ 18 ก.ย. รักษาราชการเลขาธิการประธานศาลฎีกา มีหนังสือถึงนายวัสว่า ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองกำลังร่วมกันปรึกษาหารือและพิจารณาดำเนินการอย่างรอบคอบเพื่อให้ได้ตัวบุคคลที่มีความสามารถและความเหมาะสม รวมทั้งมีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้ามมาทำหน้าที่ กสม. เป็นการชั่วคราว หากดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วเมื่อใดจะมีหนังสือกราบเรียนประธาน กสม. ให้ทราบภายหลัง

ขณะที่นายวัส มีหนังสือด่วนที่สุดถึงศาลฎีกาเป็นฉบับที่ 8 ลงวันที่ 23 ก.ย. 62 ว่า การไม่แต่งตั้ง กสม. ชั่วคราวจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ ประชาชน สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย และสำนักงานกสม. เช่น กสม.ต้องประชุมเพื่อขอคืนสถานะ A จาก
สถาบันสิทธิมนุษยชนสากล (Global Alliance of National Human Rights Institutions: GANHRI)

ซึ่ง นายวัส ได้ยื่นเรื่องต่อ ปปช. เมื่อวันที่ 30 ก.ย.62 ไต่สวนและดำเนินการอื่นๆ ต่ออดีตประธานศาลฎีกา นายชีพ จุลมนต์ กรณีเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ทำให้ เลขาธิการศาลฏีกาและเลขาธิการสำนักงานวุฒิสภา มีหนังสือชี้แจงยืนยันว่า ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด มิได้เพิกเฉยต่อการแต่งตั้งบุคคลแต่มีขั้นตอนตามกฏหมายที่ต้องกระทำอย่างรอบคอบ

จนนำมาสู่การแต่งตั้ง กรรมการสิทธิมนุษยชนชั่วคราว เพิ่ม 4 คน จากที่มีเพียง 3 คน รวม 7 คน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสรรหา กสม.ชุดใหม่ มาแทนชุดปัจจุบันที่ทำหน้าที่ชั่วคราว มาตั้งแต่มี พรบ.กสม.ฉบับใหม่ เมื่อปี 2560

โดย กสม.ชุดใหม่นั้น คณะกรรมการสรรหา ที่มี นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ เป็นประธาน ได้คัดเลือกครบแล้ว 7 คน เมื่อวันที่ 11 ต.ค.62 กำลังเสนอตามขั้นตอนของวุฒิสภา

สำหรับ กสม.ชั่วคราว 4 คน มีประวัติ เช่น

นายสมณ์ พรหมรส เป็นอดีตอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์

นางสาวอารีวรรณ จตุทอง เป็นอดีตรองนางสาวไทยปี 2537 ที่ผ่านการถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว จนมาช่วยเหลือสตรี เป็นนักกฏหมายเพื่อสิทธิสตรี

นางภิรมย์ ศรีประเสริฐ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ อดีตเลขาธิการ กปร. และที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

Related Posts

Send this to a friend