HUMANITY

ชาวบ้านห้วยฝั่งแดงเตรียมบุกเมืองหลวง 4 ก.ค.ขอความเป็นธรรมกรมชลฯ ทำอ่างเก็บน้ำท่วมนามากว่า 20 ปี ถูกหน่วยราชการต่อรองยิบจนเหนื่อยหน่าย “กฤษฎา” เตรียมชงเรื่องเข้า ครม.

2 กรกฎาคม 2562 ชาวบ้านห้วยฝั่งแดง อ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี ได้ทำหนังสือถึงนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอให้เร่งรัดจ่ายค่าชดเชยค่าสูญเสียโอกาส เนื่องทนทุกข์จากการได้รับผลกระทบในโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน ซึ่งต้องทนรับความลำบากมานานกว่า 20 ปีเพราะน้ำได้ท่วมที่นาและที่ทำกินโดยไม่ได้รับการเยียวยา

ทั้งนี้ในหนังสือร้องเรียนซึ่งลงนามโดยชาวบ้าน 9 ครอบครัวระบุว่า เมื่อปี 2540 กรมชลประทานได้สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยฝั่งแดง ทับที่นาและที่ดินซึ่งกำลังเดินสำรวจสิทธิ์ ต่อมาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบได้ร้องเรียนตั้งแต่น้ำท่วมตลอดทุกรัฐบาล จนกระทั่งรัฐบาลที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติของกรรมการทุกระดับที่พิจารณาในเรื่องนี้ ทั้งคณะทำงานระดับจังหวัดอุบลราชธานี คณะกรรมการระดับกระทรวงเกษตรฯ และคณะกรรมการของรัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ)ซึ่งมีนายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ต่างเห็นด้วยที่จะให้จ่ายค่าชดเชยการสูญเสียการทำประโยชน์ในที่ดินหลังฤดูเก็บเกี่ยว

ในหนังสือร้องเรียนระบุว่า ชาวบ้านห้วยฝั่งแดง 9 ครอบครัวที่มีสมาชิก 109 คน ซึ่งประสบความทุกข์ยากจากการสูญเสียที่ดินทำกินหลักของครอบครัวมาเป็นระยะเวลา 22 ปี จนสมาชิกในครอบครัวต้องแยกย้ายกันไปขายแรงงานในต่างถิ่น และมีเด็กในวัยเรียนหลายคนต้องออกจากการเรียนกลางคันเพราะต้องติดตามผู้ปกครองไปทำงานต่างจังหวัด นอกนากนี้ยังมีเด็ก-เยาวชนที่ต้องสูญเสียโอกาสด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาเพราะขาดรายได้จากครอบครัวสนับสนุน เนื่องจากเมื่อที่นาถูกน้ำท่วมจึงต้องเช่าที่ดินของคนอื่นเพื่อทำนา

“เมื่อคณะกรรมการทุกระดับต่างมีมติในการแก้ไขปัญหาอย่างครบถ้วน พวกเราจึงหวังว่าการชดเชยต่างๆจะนำมาสู่การฟื้นคืนชีวิตคนในครอบครัวได้ทำการเกษตรและได้พัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความเป็นปกติสุขได้ดั้งเดิม จึงอยากให้ท่านรัฐมนตรีช่วยเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดำเนินการตามมติเพื่อให้ทันกับห้วงฤดูกาลทำการเกษตรในปีนี้ด้วย” หนังสือร้องเรียน ระบุ

นางมะไล เจียงเพ็ง ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยฝั่งแดงท่วมที่นากว่า 30 ไร่ กล่าวว่าในการประชุมล่าสุดที่มีนายสุวพันธ์เป็นประธาน ได้มีมติให้จ่ายเงินค่าชดเชยให้กับชาวบ้าน ทั้งนี้เมื่อปี 2559 เคยมีการคำนวณค่าเยียวยาจากการสูญเสียที่ดินทำกินให้กับชาวบ้าน 9 ครอบครัวเป็นเงิน 20.5 กว่าล้านบาท แต่เมื่อเจรจาไปๆมาๆกับหน่วยงานราชการได้ต่อรองเรื่อยๆจนลดลงเหลือเพียง 18 ล้านบาทเมื่อปี 2560 แต่พอเอาเข้าจริงๆก็ต่อรองอีกที่จังหวัด ซึ่งชาวบ้านไม่อยากให้เรื่องยืดเยื้อออกไปอีก เพราะรู้สึกเหนื่อยหน่าย ล่าสุดเขาบอกว่าจะจ่ายให้ 13.9 ล้านบาท

“ตอนแรกเขาบอกว่าจะคำนวณค่าข้าวให้เกวียนละ 1.5 หมื่นบาท ต่อมาก็ต่อรองเรื่อยๆจนเหลือกิโลกรัมละ 10 บาท เช่นเดียวกับเรื่องค่าแรง เมื่อก่อนคำนวณค่าเยียวยาเป็นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 100 บาท ซึ่งเราก็ตกลงเพราะอยากให้เรื่องจบๆอยากจะได้มีเวลาทำมาหากิน แต่พอเรายิ่งอ่อน เขาก็ยิ่งต่อรอง จนเราถอยที่สุดแล้ว สุดท้ายเขาบอกว่าคำว่าเยียวยาผิดกฎหมายและเปลี่ยนเป็นค่าสูญเสียประโยชน์ ค่าแรงก็เปลี่ยนเป็นค่าภัยพิบัติ สรุปเหลืออยู่ 13.9 ล้าน เรายังได้ยินว่าเขาจะผ่อนจ่ายอีกต่างหาก พวกเรารู้สึกเหนื่อยมาก เขามักอ้างว่าติดระเบียนข้อกฎหมายต่างๆ ทั้งๆที่กรรมการทุกระดับต่างก็เห็นชอบหมดแล้ว แต่ระบบราชการก็ยังยืดเยื้ออยู่เรื่อยๆ จนเราต้องไปยื่นหนังสืออีกครั้ง”นางมะไล กล่าวและว่าตนและชาวบ้านจะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯในวันที่ 4 กรกฎาคม 2562

พื้นที่นาที่ถูกน้ำท่วม จากการสร้างอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน

นางมะไลกล่าวว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานราชการระดับอำเภอและจังหวัดพยายามเลี่ยงทุกอย่าง เมื่อตอนนายกรัฐมนตรีเดินทางมาที่จังหวัดอุบลราชธานี เจเหน้าที่ก็มาเฝ้าตนที่บ้านเพราะกลัวจะไปยื่นหนังสือกับนายกรัฐมนตรี จนนายกรัฐมนตรีกลับไปก็ยังมาเฝ้าจนตนต้องโทรแจ้งนายอำเภอไม่ให้ส่งคนมาเฝ้า ขณะที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบต่างมีหนี้สินล้นพ้นตัว เนื่องจากไม่มีที่ดินทำกินเพราะน้ำจากการสร้างอ่างเก็บน้ำท่วม จนหลายครอบครัวต้องไปรับจ้างที่อื่น อย่างกรณีของนายบุญเที่ยงซึ่งที่นาถูกท่วมเกือบหมด 15 ไร่ หรือกรณีของนางตวงพรมีที่ดิน 28 ไร่ ถูกน้ำท่วมหมดและสามีก็ตายแถมลูกยังเล็กจึงต้องไปหากินอยู่แถวจังหวัดจันทร์บุรี

“จริงๆแล้วค่าเยียวยาที่พวกเราได้มา มันไม่คุ้มค่าหรอก เพราะพวกเราต้องครอบครัวแตกแยก บ้านแตกสาแหรกขาด อย่างดิฉันตอนน้ำท่วม ลูกก็เล็ก พ่อแม่ก็แก่ หนี้สินเพิ่มขึ้น ภาระมากกว่ารายได้ ทำให้ลูกไม่ได้เรียนหนังสือและต้องออกมาทำงานรับจ้าง พวกเราลำบากกันมากซึ่งเป็นผลมาจากโครงการของรัฐ” นางมะไล

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้รับรายงานในเบื้องต้นแล้วซึ่งจะเร่งรัดส่งเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีในวันนี้

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Send this to a friend