PUBLIC HEALTH

แพทย์เตือน โควิด-19 กระทบการเจริญเติบโตของเด็ก เหตุได้รับอาหารไม่ครบหมู่

แพทย์เตือนสถานการณ์โควิด-19 ลุกลามกระทบการเจริญเติบโตของเด็กชะงักงัน โดยเฉพาะเด็กยากจนด้อยโอกาส เหตุเด็กบางคนกินได้แต่ข้าว ไม่มีเนื้อสัตว์ ไข่ สุ่มเสี่ยงภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็กมากขึ้น แนะไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องช่วยกันทุกส่วน

รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงลัดดา เหมาะสุวรรณ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การเลื่อนเปิดเทอมนานขึ้นส่งผลให้เด็กยากจนด้อยโอกาสได้รับผลกระทบด้านโภชนาการ เนื่องจากสำหรับเด็กยากจนด้อยโอกาสนั้น อาหารที่โรงเรียนคือ มื้ออาหารที่ดีที่สุดของเขา มีคุณค่าโภชนาการครบถ้วน เด็กบางคนก็ฝากท้องมื้อเช้า บางคนก็ฝากท้องมื้อเย็นร่วมด้วย บางคนที่ครอบครัวขาดแคลนจริงๆ พอไม่ได้ไปโรงเรียนนาน ก็จะไม่ได้สารอาหารที่ครบถ้วน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กด้อยโอกาสวันแรกของการเปิดเทอม น้ำหนักจะน้อย ส่วนสูงก็ไม่ดี พอปลายเทอมก็จะน้ำหนักดีขึ้น ปัญหาเด็กเตี้ยเด็กผอมก็จะน้อยลง เพราะเมื่อเขามาโรงเรียน เขาก็จะได้มื้ออาหารที่ดี มีคุณค่าสารอาหารที่ครบถ้วน

เมื่อไปโรงเรียนเด็กๆ จะได้รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ เหมาะสมกับวัย

“เด็กกลุ่มนี้มีความเปราะบางอยู่แล้วในด้านของโภชนาการ ส่วนหนึ่งอยู่ในความเสี่ยง ขณะที่อีกหลายส่วนมีภาวะโภชนาการที่ต่ำกว่าเกณฑ์ เช่น น้ำหนักน้อย มีภาวะเตี้ยมากกว่าเด็กทั่วไป  บางคนก็คือขาด พอยิ่งได้อาหารในปริมาณที่ไม่มากพอกับความต้องการของร่างกาย ก็ทำให้ภาวะทุพโภชนาการที่เป็นอยู่ยิ่งเป็นมากขึ้น คนที่ขาดก็จะขาดมากขึ้น คนที่เสี่ยงอยู่ก็จะขาดอย่างชัดเจนมากขึ้น ซึ่งมีผลกระทบกับการเจริญเติบโต”

รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงลัดดา อธิบายเพิ่มเติมว่า โดยทั่วไปเด็กวัยเรียนแบบนี้ปีหนึ่งจะโตประมาณ 2-3 กิโลกรัม สูงขึ้น 4-5 เซนติเมตร พอได้อาหารไม่พอ หรือไม่ได้คุณค่าอาหารที่ครบถ้วน ร่างกายก็จำเป็นต้องใช้สารอาหารได้แค่สำหรับการดำรงชีวิตเท่านั้น แต่การเติบโตจะชะงักงันไป ก็จะไม่สูงขึ้นหรือน้ำหนักไม่เพิ่มขึ้นตามที่ควรจะเป็น ช่วงนี้เด็กบางคนกินได้แต่ข้าว ไม่ได้พวกเนื้อสัตว์ ไข่ ก็จะทำให้เสี่ยง มีภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็กมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็จะกระทบกับการทำงานของสมองและการเรียนรู้ต่อไป 

รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงลัดดา เหมาะสุวรรณ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

“ทุกคนก็คงเคยมีประสบการณ์เวลาที่เรากินไม่อิ่ม เราหิว มันก็ทำให้ไม่มีความสุขอยู่แล้ว แล้วเด็กกลุ่มนี้ยิ่งมาเห็นคุณพ่อคุณแม่บางทีอาจจะไม่มีกิน หรืออาหารในครอบครัวไม่เพียงพอ เขาก็จะยิ่งเครียด ซึมเศร้า ถ้าเรามองในแง่ดีว่าผ่านไปกว่า 3 เดือนแล้วทุกอย่างเป็นปกติเลย มันก็อาจจะยังพอ ถ้าเด็กที่ไม่ได้มีปัญหาขาดแคลนสารอาหารมาก ในร่างกายเขายังมีทุนสำรอง เขาก็จะฟื้นกลับมาได้เร็ว แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่ขาดสารอาหารไปเยอะแล้ว ก็ยิ่งต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู กลับเป็นปกติ แต่จากที่รู้กันมาโรค COVID-19 นี้น่าจะอยู่กับเราไปอีกเป็นปี ดังนั้นเรื่องนี้ไม่สามารถปล่อยทิ้งนานได้ เพราะมันไม่ใช่เรื่องของอาหารกายอย่างเดียว  แต่รวมถึงอาหารจิตใจด้วย ทิ้งไปไม่ได้” รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงลัดดา กล่าว

พร้อมกันนี้ยังได้เน้นย้ำว่า ต่อไปนี้ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งอีกแล้ว ไม่ใช่พอเป็นเรื่องเรียนให้คุณครูทำไป เรื่องสุขภาพก็ไม่ใช่แค่คุณหมอ คุณพยาบาลต้องดูแลอย่างเดียว จะยกให้ใครไม่ได้ ต้องช่วยกันตอนนี้ ในระยะยาว หากเด็กๆ กลุ่มนี้จะพึ่งถุงยังชีพอย่างเดียวอาจไม่พอ สิ่งที่ห่วงที่สุดคือกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงข้อมูลดิจิทัล ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องช่วยกันสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจกันอย่างทั่วถึง ใช้วิธีที่เหมาะสมกับบริบท สภาพแวดล้อมของพื้นที่นั้นๆ ต่อไป

ในช่วงที่ปิดเทอม การคำนึงถึงโภชนาการลดน้อยลง รับประทานอาหารที่มี และหาได้ มักมีโปรตีนต่ำ

อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ที่ปรึกษาโครงการ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้อง” กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า เด็กวัยเรียนเป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโต ทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา สมอง  ดังนั้น เราต้องให้อาหารเด็กได้รับสารอาหารที่ครบ ​5 หมู่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรท ไขมัน วิตามิน แร่ธาตุ หากขาดตัวใดตัวหนึ่งหรือกินไม่พอ ก็อาจมีอาการสมองฝ่อ ร่างกายเตี้ย ผอมแคระแกร็น มีผลการเรียนและการพัฒนาสติปัญญาร่างกายด้อยกว่าเด็กปกติ 

“กสศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงร่วมมือบรรเทาความเดือดร้อนของเด็กยากจนพิเศษ ด้วยการโอนเงินไปให้โรงเรียนซื้อข้าวสาร อาหารแห้งที่เป็นประโยชน์เป็นถุงยังชีพแจกเด็ก และภายในถุงยังชีพมูลค่า 600 บาท สำหรับเป็นค่าอาหารเบื้องต้น 30 วัน จะประกอบไปด้วย ข้าวสาร 20 กก. ไข่ไก่ 36 ฟอง ปลากระป๋อง 10 กระป๋อง นม  น้ำมันพืชที่ อย่างน้อยจะช่วยลดความหิวโหย ลดการขาดสารอาหารในช่วงนี้”

อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ที่ปรึกษาโครงการ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้อง” กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

นอกจากนี้ ยังได้ทำโครงการรณรงค์ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้อง” พร้อมเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมสมทบเติมเต็มมื้ออาหารอีก 15 วันที่ยังขาดแคลนให้กับเด็กๆกลุ่มนี้ เพื่อก้าวผ่านวิกฤตและมีโอกาสกลับมาเรียนอีกครั้งเมื่อเปิดเทอมใหม่มาถึง ทุกคนสามารถร่วมบริจาคช่วยเหลือน้องๆ ไปกับโครงการนี้ผ่านบัญชี ธนาคารกรุงไทย เลขที่ 172-0-30021-6 ชื่อบัญชี “กสศ.-มาตรา 6(6) – เงินบริจาค” สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่า สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02-079-5475

Related Posts

Send this to a friend