PUBLIC HEALTH

“หมอชนะ” ไม่ใช้ก็ได้ ไม่ถูกจับ แต่ทำไมจึงแนะนำให้ใช้ แล้วมันต่างกับแอปเก่าอย่างไร

ในห้วงเวลาการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งแตกต่างจากครั้งที่ผ่านมา และมีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม จำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันที่พบสูงขึ้น ส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าระลอกแรกมาก และทำให้ “การสอบสวนโรค” เป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้น ทั้งในแง่จำนวนผู้ติดเชื้อที่มีมากขึ้น และในแง่ของ “ข้อมูล” ที่จะนำมาวิเคราะห์และสอบสวนหาความเชื่อมโยง

เหตุหนึ่งที่ทำให้การสอบสวนโรคในครั้งนี้ยากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ไม่มีอาการ และอาจเพราะคลัสเตอร์ที่ระบาดในครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นคลัสเตอร์ที่ผู้ติดเชื้อไม่อยากเปิดเผยรายละเอียดนัก และไม่มีการเช็คอินเข้าสถานที่เป็นหลักฐานไว้ ไม่ว่าจะเป็นคลัสเตอร์บ่อน คลัสเตอร์สถานบันเทิง/ สถานบริการ หรือคลัสเตอร์ลักลอบเข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย การสอบสวนโรคจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทำให้การติดตามผู้ “สัมผัสเสี่ยง” ช้าลงหรือติดตามได้ยากมากขึ้น และทำให้เห็นช่องโหว่ของการใช้งานแอปพลิเคชั่นที่ต้องเช็คอินด้วยความสมัครใจด้วยตนเองอย่าง “ไทยชนะ” และคาดว่าจะเป็นสาเหตุที่นำมาสู่การแนะนำให้ใช้งานแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ

หมอชนะ กับ ไทยชนะ ต่างกันตรงไหน

สรุปแบบสั้นๆ คือ หมอชนะ สามารถติดตามและบันทึกข้อมูลการเดินทางและความเสี่ยงของผู้ใช้งานได้ “ตลอดเวลา” ผ่านการจับสัญญาน GPS และ Bluetooth ทำให้สามารถประเมินความเสี่ยง และการเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงได้แม่นยำขึ้น ในขณะที่ “ไทยชนะ” จะได้ข้อมูลกว้างๆ ของสถานที่ที่ผู้ใช้แต่ละคนเดินทางไป และช่วงเวลาที่ไปเท่านั้น ซึ่งหากไม่ได้ทำการเช็คอิน หรือเป็นสถานที่ที่ไม่ต้องเช็คอิน หรือเป็นสถานที่ที่กว้างมากๆ ก็จะไม่สามารถจำแนกการสัมผัสเสี่ยงสูง หรือเสี่ยงต่ำได้

หากทุกคนใช้ “หมอชนะ” เหมือนกันหมด “กรมควบคุมโรค” จะสามารถสอบสวนโรค และวิเคราะห์ความเสี่ยงได้อย่างแม่นยำ และรวดเร็ว โดยจะสามารถจับคู่ข้อมูลของ “ผู้ติดเชื้อ” กับ “ผู้สัมผัสเสี่ยง” รวมถึงแจ้งเตือนผู้สัมผัสเสี่ยงให้เข้ามารับการตรวจได้ ทำให้การควบคุม และจำกัดวงของโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“หมอชนะ” มีจุดเด่น คือ
1. มีแบบสอบถามเบื้องต้นเพื่อประเมินความเสี่ยงของผู้ใช้งาน
2. ใช้ Bluetooth ทำให้สามารถติดตามได้แม้อยู่ในอาคาร หรือสถานที่ที่การจับสัญญาน GPS มีความแม่นยำต่ำ
3. ข้อมูลที่บันทึก จะได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลฯ และลบออกอัตโนมัติเมื่อถึงระยะเวลากำหนด โดยผู้เข้าถึงข้อมูลจะมีเพียงกรมควบคุมโรคเท่านั้น ซึ่งจะทราบเพียงรหัสผู้ใช้งานไม่สามารถทราบถึงตัวตนโดยตรง เมื่อพบว่าเป็นผู้เสี่ยงจะส่งแจ้งเตือนไปตามรหัสเพื่อให้ผู้ใช้งานเข้ารับการตรวจ โดยจะเก็บข้อมูลเพียงตำแหน่งของผู้ใช้ ไม่มีการเก็บข้อมูลประวัติการใช้งานอุปกรณ์ ไม่มีการใช้ไมโครโฟนของเครื่องแต่อย่างใด

ส่วน “ไทยชนะ” เป็นแอปพลิเคชันที่บันทึกข้อมูล ระยะเวลา การเข้าใช้งานในพื้นที่ต่างๆ เช่น ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ฯลฯ เพื่อควบคุมจำนวนผู้เข้าใช้บริการในแต่ละสถานที่ไม่ให้มีความหนาแน่น และเป็นข้อมูลในการสอบสวนโรค รวมถึงติดตามผู้อยู่ในสถานที่เดียวกันในช่วงเวลาเดียวกันกับผู้ติดเชื้อมาเข้ารับการคัดกรอง และตรวจเชื้อ อย่างไรก็ตาม ไทยชนะจะสามารถบอกได้แค่สถานที่ และเวลา ไม่สามารถระบุรายละเอียดมากกว่านั้นได้ หากเป็นที่กว้างมากๆ ทำให้ไม่สามารถจำกัดวงของผู้สัมผัสเสี่ยงสูงได้ โดยการลงทะเบียนใช้เพียงเบอร์โทรศัพท์ และ OTP และจะมีการลบข้อมูลอัตโนมัติทุกๆ 60 วัน

หมอชนะ กับ ไทยชนะ จึงเป็นแอปพลิเคชั่นที่มีเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และการใช้งานที่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว และการแนะนำให้ใช้งานหมอชนะ เพื่อให้สามารถติดตาม และสอบสวนโรคได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในต่างประเทศมีแอปพลิเคชั่นแบบนี้ไหม

อย่างไรก็ตาม หมอชนะ ถูกตั้งคำถามอย่างมากในแง่ของการติดตามข้อมูล หรือการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานว่ามากเกินความจำเป็นหรือไม่ และมีประเทศอื่นใช้งานแอปพลิเคชั่นลักษณะนี้หรือไม่

The Reporters พบว่าหลายๆ ประเทศมีการใช้งานแอปพลิเคชั่นติดตามตัว เพื่อการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นเดียวกัน อาทิ “Corona 100m” ของ เกาหลีใต้ ที่จะติดตามข้อมูลทั้งสถานที่ที่ผู้ใช้งานเดินทาง ไปจนถึงระยะห่างระหว่างผู้ใช้งานกับผู้ติดเชื้อที่ใช้แอปพลิเคชั่นนี้เช่นเดียวกัน หรือ COCOA ของญี่ปุ่นที่จะใช้ GPS และ Bluetooth เช่นเดียวกัน โดยจะเก็บข้อมูลการเดินทาง และการเข้าใกล้กับบุคคลอื่นที่ใช้แอปพลิเคชั่นเดียวกันในระยะ 1 เมตรเป็นระยะเวลากว่า 15 นาที ทำให้สามารถกระชับข้อมูลบุคคลที่มีความเสี่ยงได้ โดยผู้ใช้แต่ละคนจะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้คนอื่น

โดยยังมีการใช้ และการพัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อจำกัดวง และติดตามข้อมูลเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกหลายประเทศ อาทิ สิงคโปร์ เบลเยี่ยม สหรัฐอเมริกา บราซิล สหราชอาณาจักร ซึ่งได้รับความนิยมบ้าง ไม่ได้รับความนิยมบ้าง ขึ้นอยู่กับรายละเอียด และความยากง่าย รวมถึงประสิทธิภาพการใช้งานของแต่ละแอปพลิเคชั่น

แอปพลิเคชั่น หรือการพัฒนานวตกรรม และเทคโนโลยีต่างๆ เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุข (ที่ทำงานอย่างหนัก) สามารถติดตาม ประเมิน สอบสวนโรค และจำกัดวงในการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยแจ้งเตือนให้ผู้มีความเสี่ยงเข้ารับการตรวจได้อย่างรวดเร็ว แต่สิ่งสำคัญที่สุดในห้วงเวลาแห่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ คือความร่วมมือร่วมใจในการปกป้องตัวเอง ครอบครัว และสังคมด้วยการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด สำคัญที่สุดคือการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล การใส่หน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย (อย่างถูกวิธี) ไว้เป็นประจำทุกครั้งเมื่อออกนอกเคหะสถาน (หรือในบางกรณีควรใส่ในอาคารหากมีกลุ่มเปราะบาง เสี่ยงสูงในบ้าน) หมั่นล้างมือ และรักษาความสะอาดส่วนบุคคลเมื่อออกนอกอาคาร การล้างมือบ่อยเมื่อสัมผัสสิ่งต่างๆ หากเราร่วมมือร่วมใจกัน การต่อสู้กับการแพร่ระบาดโควิด-19 ไม่ว่าระลอกไหน ก็จะผ่านไปได้อย่างแน่นอน

Related Posts

Send this to a friend