PUBLIC HEALTH

จะเลวร้ายแค่ไหน เมื่อไข้หวัดใหญ่ จับมือกับโควิด-19 “Co-Infection” ความเสี่ยงที่ต้องระวัง

การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างความเสียหายและวิตกกังวลไปทั่วโลก มีจำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 4 ล้านรายทั่วโลกและกว่า 3,000 รายในประเทศไทย ในขณะที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่นั้น โรคระบาดขาประจำอย่าง “ไข้หวัดใหญ่” ก็กำลังจ่อคิวเข้ามาเล่นงานพวกเราในฤดูฝนที่จะถึงนี้เช่นเดียวกับทุกปี

โรคไข้หวัดใหญ่” เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ ที่สามารถแพร่กระจายไปสู่คนทุกเพศทุกวัยได้เช่นเดียวกับโควิด-19 เพียงแค่ช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึง 28 เมษายน 2563 ในประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มากกว่าโควิด-19 ถึง 33 เท่า

จากข้อมูลเกี่ยวกับโรคหวัดตามฤดูกาลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (CDC) อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ในแต่ละปีสูงถึง 2 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก และสูงถึง 26 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยปีนี้ จะเป็นปีแรกที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับโรคระบาดทั้งไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 ไปพร้อมๆ กัน นำมาซึ่งความเสี่ยงในการติดเชื้อร่วมกัน (co-infection) ซึ่งจะทำให้เกิดอาการที่รุนแรง และซับซ้อนมากยิ่งขึ้นได้

ก่อนจะถึงหน้าฝน ซึ่งเป็นช่วงที่ไข้หวัดใหญ่ระบาด แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรคได้จัดสรรให้ 7 กลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฟรี ถึง 31 สิงหาคม 2563 จำนวน 4.11 ล้านโด๊ส ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ และสถานพยาบาลเอกชนใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้วก็ตาม แต่ความเสี่ยงในการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ก็ยังคงมีอยู่

นายแพทย์ วีรวัฒน์ มโนสุทธิ รองผู้อำนวยการสถาบัน กลุ่มแผนปฏิบัติการชาติฯ สถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า “ยังพบว่าผู้รับวัคซีนยังสามารถป่วยไข้หวัดใหญ่ได้ เนื่องจากมีหลายสายพันธุ์ และวัคซีนที่ฉีดอาจมีประสิทธิภาพเพียง 40-60 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นกับสายพันธุ์ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในแต่ละปี ล่าสุดพบข้อมูลว่าผู้ป่วยติดเชื้อร่วมกันได้ทั้ง 2 โรค ซึ่งลำพังเพียงแค่โควิด-19 ก็เพิ่มภาระงานและส่งผลต่อทรัพยากรทางการแพทย์มากเพียงพอแล้ว เราจึงต้องหาวิธีจัดการกับไข้หวัดใหญ่ในช่วงเวลานี้ให้ไม่ซ้ำเติมกันเข้าไปอีก”

นายแพทย์ วีรวัฒน์ มโนสุทธิ รองผู้อำนวยการสถาบัน กลุ่มแผนปฏิบัติการชาติฯ สถาบันบำราศนราดูร

การติดเชื้อทั้งสองโรคในเวลาเดียวกันหรือ co-infection จะเป็นการเพิ่มความรุนแรงของโรค ซึ่งเป็นอันตรายในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ โดยการศึกษาที่สหรัฐอเมริกาและจีนพบว่าการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้ออื่นๆ ร่วมกันได้ และการติดเชื้อร่วมกับโควิด-19 กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ พบเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ และการติดเชื้อร่วมกันนั้นเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูงถึง 29-55 เปอร์เซ็นต์

“อาการที่เข้าเกณฑ์การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ประกอบด้วย ไข้สูง 38-40 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ คัดจมูกหรือน้ำมูกไหล เจ็บคอ ไอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และร่างกายอ่อนเพลีย หากพบว่ามีอาการดังกล่าวผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์ โดยเฉพาะในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อรับคำแนะนำและการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ซึ่งยาต้านไวรัสมีประโยชน์ในการบรรเทาอาการของไข้หวัดใหญ่ได้ภายใน 2.3 ถึง 4 วัน ลดความเสี่ยงการเกิดโรคแทรกซ้อน และช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อไวรัสไปสู่คนใกล้ชิดได้ด้วย ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในช่วงเวลาที่ทุกคนกักตัวในบ้านกับครอบครัวขณะนี้ โดยยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่จะมีประสิทธิผลที่ดีที่สุดเมื่อรับประทานภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากมีอาการ และในปัจจุบันมีทางเลือกยาต้านไวรัสหลายชนิด ทั้งชนิดรับประทาน และสูดดมทางจมูกให้เลือกใช้ โดยจะต้องคำนึงถึงทั้งประสิทธิผลและความปลอดภัยไปพร้อมกัน” นายแพทย์ วีรวัฒน์ กล่าวเสริม

ปัจจุบัน การรับมือของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็เป็นภารกิจอันใหญ่หลวงของบุคลากรทางการแพทย์อยู่แล้ว หากเกิดการระบาดระลอกที่ 2 หรือการติดเชื้อร่วม ย่อมทำให้ปัญหาหนักขึ้นกว่าเดิม การใช้เทคโนโลยีการรักษาไข้หวัดใหญ่ เช่น ยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพ จะสามารถลดระยะเวลาการรักษาที่โรงพยาบาลและแบ่งเบาภาระหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ได้ ทั้งยังสามารถช่วยป้องกันการแพร่กระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่และการติดเชื้อร่วมกันได้อีกด้วย

Related Posts

Send this to a friend