PUBLIC HEALTH

สธ.เผยล็อกดาวน์-ค้นหาผู้ป่วยโควิด-ฉีดวัคซีน ช่วยลดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต

กระทรวงสาธารณสุขเผยมาตรการล็อกดาวน์ ร่วมกับการค้นหาผู้ป่วย และฉีดวัคซีน จะช่วยลดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตไม่ให้สูงกว่าที่คาดการณ์ได้ เดินหน้าการดูแลที่บ้านและชุมชน ระดมบุคลากรจากภูมิภาคอย่างน้อย 50 ทีม ลงพื้นที่เชิงรุกชุมชนใน กทม. คาดคัดกรองได้กว่า 4-5 แสนราย เดือนสิงหาคมเตรียมกระจายวัคซีนลงต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น เน้นกลุ่มเสี่ยง 608 และ อสม. ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐฯ บริจาค จะเริ่มฉีดกลุ่มเป้าหมาย 9 ส.ค.นี้

วันนี้ (30 ก.ค. 64) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวคาดการณ์แนวโน้มการติดเชื้อโควิด 19 ในประเทศไทย

 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลกกลับมาระบาดรุนแรงขึ้นอีกครั้ง โดยวันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ 17,345 ราย ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นไปตามตัวเลขการคาดการณ์สถานการณ์ จึงต้องใช้มาตรการต่างๆ เพื่อลดการติดเชื้อและเสียชีวิต โดยนายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้ยาฟาวิพิราเวียร์โดยเร็วที่สุด ซึ่ง 2 เดือนจากนี้จะมียาประมาณ 80 ล้านเม็ด จัดส่งไปสำรองที่ภูมิภาค เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยทั้งในโรงพยาบาล และผู้ป่วยที่แยกกักตัวที่บ้านและชุมชน

นอกจากนี้ ยังจัดหน่วยปฏิบัติการเชิงรุกในชุมชน CCR Team ดูแลรักษาพยาบาล ตรวจคัดกรองด้วย Antigen Test Kit (ATK) ฉีดวัคซีนกลุ่มเปราะบาง โดย กทม.ฉีดครอบคลุมแล้ว 61.67% เฉพาะผู้สูงอายุใน กทม.ฉีดแล้ว 70% ดังนั้น เดือนสิงหาคมที่จะมีวัคซีนอีก 10 ล้านโดส จะปรับการจัดสรรให้ต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การคาดการณ์สถานการณ์โรคโควิด-19 โดยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์ SEIR ใน 3-4 เดือนข้างหน้าหากไม่มีการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่อาจเกิน 4 หมื่นรายต่อวัน สูงสุดวันที่ 14 กันยายน 2564 และเสียชีวิตมากกว่า 500 รายต่อวัน แต่หากมีมาตรการล็อกดาวน์ โดยผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายรวมถึงประชาชนให้ความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ และระยะเวลานานขึ้นจะช่วยลดการติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลงได้ และหากการล็อกดาวน์เข้มข้น ร่วมกับการค้นหาผู้ป่วยและฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง จะยิ่งช่วยลดการติดเชื้อและเสียชีวิตลงได้อีก

ทั้งนี้ มาตรการล็อกดาวน์ในช่วงต้นจะยังไม่เห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงมากนัก แต่จากนั้น 2-4 สัปดาห์จะเห็นผู้ติดเชื้อลดลงชัดเจน โดยจะมีการประเมินเป็นระยะและเสนอ ศบค.พิจารณาต่อไป

นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า การกระจายวัคซีนเดือนสิงหาคม นอกจากเน้นกลุ่มเสี่ยง 608 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 7 โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ รวมถึง อสม.เป็นหลัก จะใช้เพื่อควบคุมการระบาด และในพื้นที่เป้าหมายพิเศษ พื้นที่ท่องเที่ยว โดยใช้สูตร SA คือ ซิโนแวคเข็มแรก เว้น 3 สัปดาห์ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่สอง จะมีภูมิคุ้มกันขึ้นสูงใกล้เคียงแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 12 สัปดาห์ในการฉีดเข็มสอง และจากการใช้พบว่ามีความปลอดภัย

ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐอเมริกาบริจาค 1.5 ล้านโดส ขณะนี้อยู่ในคลังอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส ของบริษัทซิลลิค ฟาร์มา จำกัด หลังผ่านการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัย จะเริ่มส่งล็อตแรกไปหน่วยบริการวันที่ 5-6 สิงหาคม และเริ่มฉีดให้กลุ่มเป้าหมายได้วันที่ 9 สิงหาคม ประกอบด้วย 

1) บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ เป็นเข็มกระตุ้น 7 แสนโดส

2) ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรังที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ใน 13 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (กทม. สมุทรปราการ สมุทรสาคร นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม ชลบุรี ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา สงขลา ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส) 645,000 โดส

3) คนต่างชาติในประเทศไทยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกับคนไทย รวมถึงคนไทยที่ต้องไปต่างประเทศและจำเป็นต้องฉีดวัคซีน เช่น นักเรียน นักศึกษา 1.5 แสนโดส และ 4.การศึกษาวิจัย 5 พันโดส

ด้าน นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การควบคุมโรคโควิด-19 และการรักษา ขณะนี้เน้นการตรวจด้วย ATK รู้ผลรวดเร็ว จัดระบบดูแลผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการที่บ้านและชุมชน โดยเชื่อมต่อกับสถานบริการ ฉีดวัคซีนให้กลุ่มเปราะบางที่เข้าถึงบริการลำบาก และการให้ยารักษาอย่างรวดเร็วเพื่อลดอาการรุนแรงและเสียชีวิต โดยเชิญชวนบุคลากรสาธารณสุขในภูมิภาคเข้ามาร่วมทีม CCR Team ระหว่างวันที่ 4-10 สิงหาคมนี้ อย่างน้อย 50 ทีม ทีมละ 10 คน เพื่อทำงานเชิงรุกในชุมชนพื้นที่ กทม.ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง ตั้งเป้าหมายตรวจคัดกรองเชิงรุกได้ 4-5 แสนราย คาดว่าจะพบผู้ติดเชื้อนำเข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างน้อย 7-8 หมื่นราย

Related Posts

Send this to a friend