PUBLIC HEALTH

‘นพ.ยง’ เผย ซิโนแวค-ซิโนฟาร์ม ต้องกระตุ้นวัคซีนเข็ม 3 เพื่อป้องกันสายพันธุ์เดลต้า คาด 4-5 เดือน สายพันธุ์เดลต้าจะระบาดแทนที่อัลฟา

วันนี้ (22 มิ.ย. 64) ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์โควิด-19 และการส่งผลต่อประสิทธิภาพวัคซีน

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ประมาณ 1.4 เท่า จึงไม่แปลกที่สายพันธุ์เดลตาจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจากการพยากรณ์โรคคาดว่าใน 4-5 เดือน ไทยจะพบการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตามากขึ้น ทำให้ต้องควบคุมโรคให้ได้มากที่สุด รวมทั้งทั่วโลก ในที่สุดก็จะเป็นสายพันธุ์เดลตา จากนั้นอาจมีสายพันธุ์อื่นเกิดขึ้นอีก

แต่ความรุนแรงของโรค ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์อัลฟาหรือเดลตานั้นไม่ได้แตกต่างกัน ส่วนวัคซีนทุกตัวที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน พัฒนามาจากสายพันธุ์ดั้งเดิม คือ สายพันธุ์อู่ฮั่นทั้งนั้น เมื่อสายพันธุ์เปลี่ยนไปประสิทธิภาพของวัคซีนก็เปลี่ยนไป ขณะนี้ผู้ผลิตหลายบริษัทกำลังพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 เพื่อตอบสนองต่อเชื้อกลายพันธุ์ โดยกระบวนการเปลี่ยนแปลงในสายการผลิตต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน

ทั้งนี้ สายพันธุ์ที่หลีกเลี่ยงวัคซีน ที่ทำให้ประสิทธิภาพน้อย คือ สายพันธุ์เบตา หรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้ แต่พบการแพร่กระจายโรคต่ำกว่าของสายพันธุ์อัลฟาและเดลต้า

สำหรับการป้องกันสายพันธุ์เดลตา มีการศึกษาในสก๊อตแลนด์ ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ร่วมกับแอสตร้าเซนเนก้า ประสิทธิภาพของวัคซีนทั้ง 2 ตัวลดลงประมาณ 10% ซึ่งยังป้องกันได้ แต่ประสิทธิภาพลดลง จากเดิมไฟเซอร์ป้องกันได้กว่า 90% แต่พอมาเจอเดลต้า พบว่า ประสิทธิภาพของไฟเซอร์ที่ให้ 2 เข็มป้องกันได้ 79%

ในทำนองเดียวกันสายพันธุ์เดลต้าต่อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่ให้ 2 เข็ม เหลือ 60% จากก่อนหน้านี้เกือบ 90% ดังนั้น ภูมิที่ต่ำกว่าจะป้องกันไม่ได้ ไม่ว่าไฟเซอร์หรือแอสตร้าเซนเนก้า หากฉีดเข็มเดียว ระดับภูมิคุ้มกันที่สูงไม่เพียงพอ ประสิทธิภาพป้องกันโรคก็จะลดลงเหลือ 20-30% แสดงให้เห็นว่าภูมิคุ้มกันที่ต้องการใช้ ต้องได้ปริมาณสูง ประเทศไทยจึงต้องชะลอการระบาดของเดลต้าให้มากที่สุด

“ขณะนี้มีการศึกษาอยู่ว่า หากเราต้องการให้ภูมิต้านทานสูงขึ้น อาจต้องให้แอสตร้าเซนเนก้า เข็ม 2 เร็วขึ้น หรือแม้กระทั่งซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม เมื่อฉีด 2 เข็มแล้ว ภูมิต้านทานอาจต่ำอยู่ จึงต้องกระตุ้นเข็ม 3 เข้าไป ซึ่งเราเชื่อว่าเข็ม 3 จะกระตุ้นให้สูงเป็นน้องๆ ไฟเซอร์ เพราะหลักการของการให้วัคซีน เมื่อมีกระตุ้นในเวลาที่เหมาะสมภูมิจะขึ้นสูงกว่า 10 เท่า ซึ่งจะเพียงพอในการป้องกันสายพันธุ์เดลต้า”

ดังนั้น เมื่อทรัพยากรเรามีจำกัด ทุกคนอยากได้วัคซีนที่มีภูมิสูง แต่แน่นอนว่า วัคซีนที่ภูมิสูง ผลข้างเคียงก็สูง วัคซีนที่ภูมิต่ำ ผลข้างเคียงก็ต่ำกว่า แต่เมื่อทรัพยากรมีแค่นี้ ระหว่างที่รอทั้งไฟเซอร์หรือโมเดอร์น่า ซึ่งเชื่อว่าจะได้เดือน ต.ค. ตอนนี้จึงต้องชะลอการระบาดของเดลต้า และปูพรมการฉีดวัคซีนที่มีอยู่ให้ได้มากที่สุด เพื่อควบคุมการระบาดโควิดสายพันธุ์อัลฟา หรืออังกฤษที่ระบาดอยู่ขณะนี้ และเมื่อถึงเวลาสายพันธุ์เดลต้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะมีกลยุทธ์ในการปรับแผนการให้วัคซีน เพราะขณะนี้หลายมหาวิทยาลัยมีการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีน เพื่อปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมต่อไป

สำหรับการฉีดเข็มที่ 3 ในกลุ่มที่ฉีด Sinnovac ครบ 2 เข็มแล้ว ศ.นพ.ยง กล่าวว่า หลักการของการให้วัคซีนโดยทั่วไป การให้วัคซีนเข็มที่สามจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้มากกว่า 10 เท่า แม้จะเป็นวัคซีนตัวเดียวกัน ซึ่งตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ โดยการให้เข็มที่สามจะเว้นระยะประมาณ 3-6 เดือน โดยเชื่อว่าการให้วัคซีนเข็มที่ 3 แม้จะเป็น Sinovac ตัวเดิม หรือ AstraZeneca ก็จะให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้น 10 เท่า

ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือความปลอดภัย จึงต้องมีการศึกษาก่อนว่าการให้ตัวเดิมหรือเปลี่ยนตัวมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยหรือไม่ ดังนั้น มีความเป็นไปได้ทั้งสองแบบที่จะให้ตัวเดิมหรือเปลี่ยนตัววัคซีน

Related Posts

Send this to a friend