PUBLIC HEALTH

ปลัด สธ.เผยผู้ติดเชื้อโควิดมีแนวโน้มสูงขึ้น แจ้งเตือนภัยระดับ 4

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ยังประกาศเตือนภัยโควิดระดับ 4 เน้นย้ำงดเข้าสถานที่เสี่ยง งดรวมกลุ่มเวลานาน และชะลอการเดินทาง โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. ปริมณฑล จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว และจังหวัดที่มีพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ที่พบการติดเชื้อสูงขึ้น ต้องยกการ์ดสูงมากขึ้น พร้อมแจงแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ต้องกักตัว
 
วันนี้ (21 ม.ค. 65) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า วันนี้ประเทศไทยมีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ 8,640 ราย รักษาหาย 8,641 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 82,720 ราย จำนวนนี้เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ 540 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 118 ราย มีผู้เสียชีวิต 13 ราย ภาพรวมผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตอยู่ในระดับคงตัว ขณะที่ผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงยังคงการแจ้งเตือนภัยโควิด-19 ที่ระดับ 4 โดยขอให้งดการเข้าสถานที่เสี่ยง การรวมกลุ่มทำกิจกรรมเป็นเวลานาน และชะลอการเดินทาง โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. ปริมณฑล จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว และจังหวัดที่มีพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ที่มีแนวโน้มการติดเชื้อสูงขึ้น ต้องเข้มมาตรการต่างๆ มากขึ้นด้วย
 
นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า สำหรับปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อส่วนใหญ่ยังมาจากการสัมผัสใกล้ชิดในครอบครัว คนรู้จักกัน และทำงานรวมกลุ่มกันโดยไม่สวมหน้ากากเป็นเวลานาน ทำให้พบคลัสเตอร์ในหลายวงการ เช่น นักกีฬา บุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น จึงขอให้ปฏิบัติตามมาตการป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังพบสัญญาณการระบาดในโรงงาน สถานประกอบการ สถานที่ทำงาน ร้านอาหารที่ให้ดื่มสุราในร้าน และโรงเรียนเพิ่มขึ้น เน้นย้ำว่าหากพบผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการให้แยกแผนกทำงาน แยกพื้นที่ และใช้มาตรการ Bubble & Seal ขณะที่ทั่วโลกยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากต่อเนื่อง จึงเน้นติดตามกำกับการเดินทางเข้าประเทศ ในรูปแบบ Test&Go และ Sandbox โดยเฉพาะ
 
สำหรับผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1-20 มกราคม 2565 มีจำนวน 289 ราย พบว่า เป็นผู้ที่มีอายุเกิน 70 ปีถึง 159 ราย ช่วงอายุ 60-69 ปี จำนวน 58 ราย ช่วงอายุ 50-59 ปี จำนวน 33 ราย เนื่องจากคนอายุมาก หรือมีโรคประจำตัว เสี่ยงต่อการป่วยแล้วเสียชีวิตสูงกว่า กลุ่มนี้จึงต้องรับวัคซีนให้ครบถ้วน รวมทั้งเข็มกระตุ้นเพิ่มเติมด้วย จึงขอให้ประชาชนมารับวัคซีนตามที่กำหนด ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนแล้ว 111 ล้านโดส

นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รายงานว่า ตั้งแต่ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ผู้ที่ติดเชื้อซ้ำ เป็นสายพันธุ์โอมิครอนทั้งหมด ขณะที่ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้วติดเชื้อส่วนใหญ่ก็เป็นสายพันธุ์โอมิครอนเช่นกัน แต่ทุกรายไม่มีอาการรุนแรง บ่งบอกว่าวัคซีนช่วยลดอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ แต่จะต้องเร่งฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ตามช่วงเวลาที่กำหนด เพื่อเพิ่มภุมิคุ้มกันให้มากขึ้น
 
นพ.เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า ส่วนกรณี ศบค.ปรับลดเหลือกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเป็น 7 วัน และสังเกตอาการตนเองอีก 3 วัน โดยตรวจ ATK 2 ครั้งนั้น แนวทางปฏิบัติสำหรับกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง คือ ให้กักตัวที่บ้าน 7 วัน โดยตรวจสอบอาการป่วยทุกวัน และตรวจ ATK ครั้งที่ 1 ช่วงวันที่ 5-6 หลังจากสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย หากผลตรวจพบว่าติดเชื้อให้โทร 1330 เพื่อลงทะเบียนเข้าระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation) หากไม่ติดเชื้อ เมื่อครบกักตัว 7 วัน สามารถเดินทางนอกบ้านได้โดยให้สังเกตอาการตนเองอีก 3 วัน แต่เน้นย้ำว่าให้หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น หากจำเป็นต้องทำงาน ให้แยกพื้นที่กับผู้อื่น ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองสูงสุด สวมหน้ากากตลอดเวลา เลี่ยงไปสถานที่สาธารณะ และเลี่ยงใช้ขนส่งสาธารณะที่หนาแน่น โดยให้ตรวจ ATK ครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย หากไม่ติดเชื้อก็ถือว่าพ้นการกักตัว

Related Posts

Send this to a friend