PUBLIC HEALTH

วิจัยพบวัคซีน ‘โดสกระตุ้น’ จำเป็น-ต้องฉีดใน 1 ปี เหตุเชื้อสายพันธุ์ใหม่ดื้อยาเพิ่ม

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ (UNSW) ของออสเตรเลียที่เผยแพร่ ในวารสารการแพทย์แลนเซ็ต ไมโครบ (Lancet Microbe) เผยแพร่สู่สาธารณชนในวันนี้ (18 พ.ย. 64) ชี้ถึงความจำเป็นของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 “โดสกระตุ้น” เพื่อคงไว้ซึ่งการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ และต้อง ฉีดภายใน 1 ปีหลังจากรับวัคซีน 2 โดสแรกเพื่อรักษาประสิทธิภาพวัคซีนให้สูงกว่าร้อยละ 50

ดร. เดโบราห์ โครเมอร์ ผู้นำวิจัยและหัวหน้ากลุ่มวิเคราะห์นโยบายและการระบาดวิทยาแห่งสถาบันเคอร์บีของมหาวิทยาลัยฯ ระบุว่าโรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์ใหม่ ที่ดื้อวัคซีนจะมีมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

“ประสิทธิภาพที่ลดลงของวัคซีนเป็นผลจากเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์อย่างเดลตา” โครเมอร์กล่าว “ประสิทธิภาพลดลงตามกาลเวลา โดยเราสามารถคาดการณ์การลดลงล่วงหน้าด้วยการวิเคราะห์ระดับแอนติบอดี”

“หากไม่ฉีดวัคซีนโดสกระตุ้น ประสิทธิภาพการป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคโควิด-19 อาจลดลงต่ำกว่าร้อยละ 50 หลังจากผ่านไป 6 เดือน ซึ่งหมายความว่าผู้คนจะติดเชื้อมากขึ้น”

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขออสเตรเลียเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดสกระตุ้นให้ประชาชน ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. เป็นต้นมา

ด้านศาสตราจารย์เจมี ทริกคาส ผู้ร่วมวิจัยจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ เสริมว่างานวิจัยนี้จะวางรากฐานสำหรับการประเมินระดับการป้องกันโรคโควิด-19 สายพันธุ์อื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

“โรคโควิด-19 มีแนวโน้มกลายพันธุ์ต่อไป โดยอาจแพร่ระบาดและรุนแรงแตกต่างกัน” ทริกคาสกล่าว “สิ่งสำคัญคือการคาดการณ์ว่าวัคซีนที่มีอยู่จะต้านทานสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้อย่างไร รวมถึงการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนตัวใหม่ๆ”

ที่มา: สำนักข่าวซินหัว

Related Posts

Send this to a friend