PUBLIC HEALTH

สธ.แนะนำวิธีใช้ Antigen Test Kit เตือนระวัง ผลบวกลวง-ลบปลอม อย.เตรียมขึ้นทะเบียน 5 บริษัทสัปดาห์นี้

กระทรวงสาธารณสุข แนะไม่จำเป็นต้องซื้อ Antigen Test Kit มาตรวจด้วยตนเอง ให้ระวังผลบวกลวงและลบปลอม พร้อมแนะนำวิธีใช้ แต่หากเป็นผู้เสี่ยงให้ไปตรวจที่สถานพยาบาล ด้าน อย.เตรียมขึ้นทะเบียนชุดตรวจสำหรับประชาชนทั่วไป 5 บริษัทในสัปดาห์นี้ คาดกระจายขายพรุ่งนี้ ใน รพ. คลินิกและร้านขายยาเท่านั้น ไม่แนะนำให้ซื้อทางออนไลน์

วันนี้ (15 ก.ค. 64) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวเรื่องชุดตรวจโควิด-19 Antigen Test Kit

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า การใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit รู้ผลรวดเร็วภายใน 15- 30 นาที ก่อนหน้านี้ไม่นำมาใช้ทั่วไป เนื่องจากการตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR ยังรองรับจำนวนผู้ป่วยได้ แต่ในปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยงเป็นจำนวนมาก ทำให้ประชาชนต้องการตรวจมากขึ้น จึงนำชุดตรวจมาใช้ในสถานพยาบาลก่อน เพื่อลดความแออัดรอตรวจจำนวนมาก และเร็วๆ นี้จะมีการจำหน่ายชุดทดสอบด้วยตนเองแต่ย้ำว่าไม่จำเป็นต้องซื้อมาตรวจทุกคน

นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อว่า หากมีประวัติเสี่ยง มีอาการ แนะนำให้ไปโรงพยาบาล คลินิกชุมชนอบอุ่นสถานบริการสาธารณสุข กทม. หรือหน่วยตรวจเคลื่อนที่ ซึ่งมีการตรวจด้วยชุดทดสอบ รู้ผลรวดเร็ว มีระบบวางแผนดูแลรักษา เช่น อาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ สามารถดูแลรักษาที่บ้านได้ ให้เครื่องวัดอุณหภูมิ วัดออกซิเจนในเลือด ให้ยาตามดุลยพินิจของแพทย์ มีการติดตามอาการวันละอย่างน้อย 2 ครั้งหากมีอาการรุนแรงขึ้นจะส่งต่อไปโรงพยาบาล หากมีอาการรุนแรงปานกลาง (สีเหลือง) หรือรุนแรงมาก(สีแดง) ตั้งแต่แรก จะส่งไปโรงพยาบาล

“ผู้ที่ตรวจด้วย Antigen Test Kit หากเป็นผู้เสี่ยง และผลเป็นลบ จะให้ตรวจซ้ำอีกครั้งใน 3-5 วันหรือเมื่อมีอาการ ส่วนผู้ที่ซื้อมาชุดทดสอบมาตรวจด้วยตนเอง เมื่อผลเป็นบวกแนะนำให้ติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อประสานหน่วยบริการใกล้บ้านให้การดูแลรักษาตามอาการต่อไป”

ด้านนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การใช้ชุดตรวจ มีข้อควรระวังเรื่องผลบวกปลอม คือร่างกายไม่มีเชื้อแต่ผลตรวจเป็นบวก สาเหตุอาจมาจากการปนเปื้อนสารต่างๆ บนโต๊ะที่ทำการทดสอบ ดังนั้น ก่อนทดสอบจะต้องทำความสะอาดโต๊ะ หรืออาจติดเชื้อไวรัสบางชนิดที่ชุดทดสอบแยกไม่ออก หรือขั้นตอนการตรวจไม่ถูกต้อง จึงเป็นเหตุผลว่าถ้าผลเป็นบวกและจะไปรักษาที่ชุมชนหรืออยู่รวมกับผู้ติดเชื้อรายอื่น จึงต้องตรวจRT-PCR ซ้ำ ว่าเป็นผู้ติดเชื้อจริงๆ 

ส่วนผลลบลวง คือผลตรวจเป็นลบแต่ร่างกายมีไวรัส เนื่องจากเชื้อมีน้อยจนตรวจไม่พบ จึงต้องตรวจซ้ำ 3-5 วันหรือเมื่อมีอาการ หรืออาจดำเนินการตรวจไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่ชุดตรวจกำหนดไว้ ดังนั้น ก่อนตรวจด้วยตนเองให้ประชาชนอ่านทำความเข้าใจก่อน อาจชมคลิปวิธีการใช้ที่ถูกต้องในเว็บไซต์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

“ชุดตรวจมีลักษณะไม่แตกต่างกันมากนัก คือ ตลับทดสอบมีหลุมและแถบกระดาษกรองด้านล่าง มีตัวอักษร C และ T, ไม้สวอปพันสำลีในแพคเกจที่ซีลอย่างดี หากฉีกขาดแสดงว่าไม่ได้คุณภาพ และขวดน้ำยาในการตรวจ วิธีการใช้ให้นำไม้สวอปมาเก็บตัวอย่างจากจมูกวน 5-6 รอบ ทั้ง 2 ข้าง นำมาจุ่มลงในหลอดน้ำยา หมุนวนให้สารคัดหลั่งผสมกับน้ำยา จากนั้นจึงหยดใส่หลุมบนตลับ รอ 15 นาที

ย้ำว่าไม่ควรตรวจในที่มีคนจำนวนมาก เพราะอาจไอจามกระเด็นใส่ผู้อื่น ควรอยู่ในพื้นที่สะอาด ทำความสะอาดโต๊ะ การอ่านผลตัว C ต้องมีขีดขึ้น หากไม่มีขีดแสดงว่าการตรวจใช้ไม่ได้ หากตัว T ขึ้นขีดคือผลบวก ตัว T ไม่ขึ้นขีดคือผลลบ หลังจากการใช้ให้เก็บใส่ถุงขยะและใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดเพิ่มเติม”

ขณะที่ นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  กล่าวว่า หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามในประกาศเมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อให้ใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit ด้วยตนเองได้ ขณะนี้ยังไม่มีชุดตรวจใดที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. ที่ใช้กับประชาชนทั่วไป โดยบริษัทต่างๆ อยู่ระหว่างการยื่นเอกสารวิธีการใช้สำหรับประชาชน เช่น การแยงจมูกต้องลึกแค่ไหน ทำอย่างไร อ่านผลอย่างไร ทิ้งอย่างไร เป็นต้น เพื่อขึ้นทะเบียนการใช้ในประชาชน 

โดยคาดว่าวันนี้จะขึ้นทะเบียนได้ 3 บริษัท พรุ่งนี้อีก 2 บริษัท รวมสัปดาห์นี้จะมี 5 บริษัทที่ขายประชาชนทั่วไปได้ คาดว่าพรุ่งนี้จะเริ่มกระจายชุดตรวจไปขายได้ ซึ่งกำหนดขายในสถานพยาบาล คลินิก และร้านขายยา เพื่อให้คำแนะนำในการใช้แก่ประชาชน และคาดว่าสัปดาห์ถัดไปจะมีการทยอยขึ้นทะเบียนรายอื่นๆ อีก โดย อย.จะนำชื่อบริษัทที่ขายได้สำหรับประชาชนประกาศบนเว็บไซต์ อย.

“ชุดตรวจที่ใช้กับสถานพยาบาลจะไม่จำหน่ายให้ประชาชนทั่วไป สำหรับชุดตรวจในประชาชนทั่วไปจะมีข้อความบนกล่องว่าใช้กับประชาชนทั่วไปได้ และในกล่องจะมีคำอธิบายการใช้ ดังนั้น ขณะนี้ที่เห็นขายในทางออนไลน์เป็นสินค้าที่อาจไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย. หรือขึ้นทะเบียนแต่เป็นเฉพาะใช้สถานพยาบาลซึ่งหากซื้อไปอาจเป็นชุดตรวจที่ไม่เหมาะสม ไม่มีคุณภาพ หรือไม่มีคำอธิบายที่จะเอาไปใช้ต่อ ไม่แนะนำให้ซื้อทางออนไลน์ ส่วนการโฆษณาขายทางออนไลน์มีความผิด สามารถแจ้ง อย.ที่สายด่วน 1556 เนื่องจากการโฆษณาขายออนไลน์ต้องมีการขออนุญาต ซึ่งจะมีการจำกัดข้อความ และแม้จะโฆษณาทางออนไลน์ ก็ต้องซื้อผ่านสถานพยาบาล คลินิกหรือร้านขายยาเช่นกัน”

Related Posts

Send this to a friend