PUBLIC HEALTH

สาธารณสุขเข้มคุมโควิด-19 ปทุมธานีและตาก ย้ำมาตรการกักตัว 14 วัน ช่วยสกัดสายพันธุ์แอฟริกาใต้

กระทรวงสาธารณสุขเข้มควบคุมโรคโควิด-19 จ.ปทุมธานีและตาก เผยตรวจเชิงรุกตลาดพรพัฒน์ จ.ปทุมธานี 5 วันพบติดเชื้อ 175 ราย กระจายไปอีก 8 จังหวัด เหตุค้าขายในตลาดหลายแห่งและเยี่ยมญาติ ส่วน จ.ตากพบติดเชื้อ 112 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมา ล่าสุดพบคนไทยกลับจากแทนซาเนียติดโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ย้ำเข้าระบบกักกันโรค 14 วัน และตรวจทางห้องปฏิบัติการ ช่วยป้องกันเชื้อทุกสายพันธุ์แพร่ระบาดวันนี้หายป่วยกลับบ้านได้เกือบ 1,000 ราย
 

วันนี้ (14 ก.พ. 64) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 166 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 49 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 89 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 28 ราย รักษาหายเพิ่มขึ้น 931 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ ผู้ติดเชื้อสะสมระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 – 14 กุมภาพันธ์ 2564 มีจำนวน 20,334 ราย หายป่วยสะสม 17,934 ราย ยังอยู่ระหว่างการรักษา 2,380 ราย และเสียชีวิตสะสม 20 ราย โดยสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวัง คือ ปทุมธานีและตาก

นายแพทย์โอภาสกล่าวว่า การพบการติดเชื้อใน จ.ปทุมธานี เกี่ยวข้องกับการตลาดพรพัฒน์ ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีได้สั่งปิดตลาดแล้ว จากการตรวจคัดกรองเชิงรุกระหว่างวันที่ 9-13 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวนรวม 1,333 ราย พบติดเชื้อสะสม 175 ราย คิดเป็นร้อยละ 13.13 แบ่งเป็นคนไทย 111 ราย และต่างด้าว 64 ราย โดยขณะนี้ยังมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้ป่วยรายแรกพบว่า มีการค้าขายที่ จ.สมุทรสาครและมาค้าขายที่ตลาดแห่งนี้ด้วย ซึ่งการค้าขายในตลาดหลายแห่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เชื้อแพร่กระจายไปจุดต่างๆ ได้
 
ทั้งนี้ จากการสอบสวนโรคพบว่า จุดที่มีการติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่บริเวณกลางตลาด ซึ่งหลังคาค่อนข้างเตี้ย อากาศถ่ายเทไม่สะดวก มีการรับประทานอาหารร่วมกัน และเวลาอากาศร้อนก็อาจละเลยไม่สวมหน้ากากด้วย ดังนั้น ตลาดต้องจัดจุดลงทะเบียน เข้มการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และจัดระบบการระบายอากาศที่ดี
 
“ขณะนี้ยังพบผู้เกี่ยวข้องกับตลาดพรพัฒน์เชื่อมโยงไปจังหวัดอื่นๆ จากการไปเยี่ยมญาติและค้าขาย ทำให้โรคกระจายไปเพิ่มเติม ได้แก่ นครนายก 7 ราย, เพชรบุรี 3 ราย, สระบุรี และกทม. จังหวัดละ 2 ราย, พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง นครราชสีมา และแพร่จังหวัดละ 1 ราย กรณี จ.นครราชสีมา พบเด็กอายุ 7 ปี ติดเชื้อจากแม่ที่ทำงานในตลาดพรพัฒน์ ดังนั้น ผู้ใดที่เคยสัมผัสกับผู้เกี่ยวข้องของตลาดพรพัฒน์ช่วงวันที่ 9-13 กุมภาพันธ์ 2564 หรือก่อนหน้านี้ 7 วัน ถ้าไม่แน่ใจหรือมีอาการสงสัยให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือโทรสายด่วน 1422 เพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในชุมชนได้” นายแพทย์โอภาสกล่าว
 
สำหรับกรณี อ.แม่สอด จ.ตาก จากการสอบสวนโรคตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม – 14 กุมภาพันธ์ 2564 พบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค และตรวจคัดกรองเชิงรุกในตลาดสีมอย ตลาดพาเจริญ ชุมชนอันซอร โรงงาน และซุ้มเลี้ยงไก่ชน พบผู้ติดเชื้อรวม 112 ราย เชื่อมโยงกับชาวเมียนมาร้อยละ 89.29 ที่เหลือเป็นคนไทยร้อยละ 10.71 ทางจังหวัดได้ดำเนินการปิดพื้นที่บางส่วน และค้นหาเชิงรุกในชุมชนเพิ่มเติม
 
ขอย้ำในพื้นที่ที่มีการระบาด การสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ 100 เปอร์เซ็นต์เป็นสิ่งสำคัญ รวมทั้งการเว้นระยะห่าง และหากได้การแจ้งเตือนของเจ้าหน้าที่ขอให้ติดต่อเพื่อรับคำแนะนำการปฏิบัติตัวหรือตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อควบคุมโรคได้รวดเร็วขึ้น
 
นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์มีความสำคัญใน 3 ประเด็น คือ
1.ทำให้เชื้อระบาดง่ายขึ้น เช่น สายพันธุ์อังกฤษ
2.ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง เช่น สายพันธุ์แอฟริกาใต้ และ
3.ทำให้โรครุนแรงขึ้น ซึ่งตอนนี้ยังไม่พบ สำหรับประเทศไทยตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ จี เหมือนกับทั่วโลก
ส่วนไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อื่นๆ มีโอกาสพบเจอได้ เช่นก่อนหน้านี้พบสายพันธุ์อังกฤษในครอบครัวชาวอังกฤษที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ตรวจพบเชื้อและเข้าระบบกักตัวรักษาทำให้เชื้อไม่แพร่สู่ชุมชน
 
ล่าสุด สายพันธุ์แอฟริกาใต้ (South African Variant) รายแรกของประเทศไทย เป็นชายไทยอายุ 41 ปี ทำงานรับซื้อพลอยอยู่ที่แทนซาเนีย 2 เดือน วันที่ 29 มกราคม เดินทางมาต่อเครื่องเอธิโอเปียและเดินทางมาไทย จากการตรวจคัดกรองพบว่าสบายดี จึงเข้ารับการกักกันใน State Quarantine โดยวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ตรวจพบเชื้อจึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และไม่แพร่เชื้อสู่ชุมชนภายนอก
 
“เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้มาจากทวีปแอฟริกา จึงมีการเก็บตัวอย่างส่งไปถอดรหัสพันธุกรรม ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย พบว่าเป็นสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ทีมสอบสวนโรคจึงลงไปตรวจสอบสถานกักกันโรคและโรงพยาบาล พบว่าเจ้าหน้าที่ใส่เครื่องป้องกันอย่างดี และเก็บตัวอย่างส่งตรวจพบเป็นลบทุกคน สำหรับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ส่วนใหญ่พบการระบาดในทวีปแอฟริกา ยุโรป ออสเตรเลีย และอเมริกา ส่วนในเอเชียยังไม่มี จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจมีผลกับประเทศไทย ดังนั้น การคัดกรองผู้เดินทางจากประเทศที่พบสายพันธุ์นี้ โดยนำเข้าสู่การกักกัน เก็บตัวอย่างทันทีที่ถึงประเทศไทย คัดกรองผู้ที่มีอาการและประวัติเสี่ยงเข้าโรงพยาบาลทันที และตรวจทางห้องปฏิบัติการ ทำให้เชื้อไม่ว่าสายพันธุ์ใดก็ไม่กระจายติดในชุมชนได้” นายแพทย์โอภาสกล่าว
 

Related Posts

Send this to a friend