PUBLIC HEALTH

สธ.เผยทุกวิชาชีพเห็นพ้องมี ร่าง กม.คุ้มครองคนทำงานโควิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมรับฟังทุกความเห็น

กระทรวงสาธารณสุขเผยทุกวิชาชีพเห็นพ้องจัดทำร่างกฎหมายคุ้มครองคนทำงานโควิด ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และมีข้อจำกัดด้านทรัพยากร พร้อมรับฟังทุกความคิดเห็นเพื่อปรับปรุง ให้เหมาะสม เผยร่างกฎหมายครอบคลุมทั้งผู้ประกอบวิชาชีพ อาสาสมัคร บุคคลหรือคณะบุคคลในการจัดการวัสดุอุปกรณ์การแพทย์และวัคซีน ที่ดำเนินการโดยสุจริต ไม่มีการตัดสิทธิเยียวยาประชาชน

วันนี้ (9 ส.ค. 64) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ พลอากาศตรี นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา แถลงข่าวกรณีร่าง พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. …

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย มีการประกาศเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินถือเป็นภัยพิบัติต่อสาธารณะ ทำให้เกิดความเสียหายและการเจ็บป่วยจำนวนมาก จึงมีการระดมสรรพกำลังทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน และประชาสังคมมาร่วมมือดูแลให้พ้นภัยพิบัติ อย่างไรก็ตาม โรคโควิด-19 เป็นโรคใหม่ มีองค์ความรู้ใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งการรักษา ไวรัสเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ แต่ทรัพยากรต่างๆ ไม่เพียงพอ ข้อจำกัดต่างๆ ทำให้ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึงทั้งหมด จึงจำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะการป้องกันการถูกฟ้องร้อง จะทำให้มีขวัญกำลังใจในการทำงาน ซึ่งองค์กรวิชาชีพ สภาวิชาชีพต่างๆ และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ก็เสนอให้มีกฎหมายนี้ เบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะทำงานยกร่าง โดยมอบหมายกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นหน่วยงานหลัก มีผู้แทนทั้งวิชาชีพและกฎหมายเข้าร่วม เพื่อให้มีกลไกคุ้มครองให้คนทำงานได้อย่างเต็มความสามารถ

นายแพทย์ธเรศกล่าวต่อว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวครอบคลุมบุคลากรสาธารณสุข ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบโรคศิลปะแขนงต่างๆ อาสาสมัครสาธารณสุข อาสาสมัครต่างๆ ที่มาช่วยเหลือ บุคคลหรือคณะบุคคลที่มีส่วนในการช่วยจัดหาวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา และวัคซีน เนื่องจากกระบวนการรักษาต้องคำนึงตั้งแต่ต้นทาง คือ การจัดหาเครื่องมือ การเตรียมสถานที่ บุคลากร ยา และเวชภัณฑ์ เป็นต้น ส่วนสถานที่คุ้มครอง คือ สถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน และการปฏิบัติงานนอกสถานที่ที่กำหนด เช่น โรงพยาบาลสนาม รถฉุกเฉินที่ออกไปรับผู้ป่วย การดูแลผู้ป่วยในพื้นที่เฉพาะ เป็นต้น เป็นการดูแลรักษาเพื่อประโยชน์สาธารณะ ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม การดูแลคุ้มครองไม่ใช่ทุกกรณี โดยจะอยู่ภายใต้กรอบการกระทำโดยสุจริต ไม่ประมาทเลินเล่อร้ายแรง สำหรับประชาชนที่เกิดความเสียหายไม่มีการตัดสิทธิรับการเยียวยาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

“ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างกฎหมาย พร้อมรับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมที่สุด มีเจตนารมณ์เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ที่สุด โดยยืนยันว่า บุคลากรทั้งรัฐ เอกชน ประชาสังคม และอาสาสมัคร ยึดมั่นดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ ซึ่งหากมีกฎหมายฉบับนี้ก็จะมีขวัญกำลังใจ มีประโยชน์ทั้งประชาชน ผู้เจ็บป่วย และผู้ประกอบวิชาชีพด้านต่างๆ” นายแพทย์ธเรศกล่าว

ด้านพลอากาศตรี นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 เหมือนการเข้าสู่ภาวะสงคราม แต่ละวิชาชีพปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด และมีภาระงานมากกว่าปกติ การมีกฎหมายคุ้มครองผู้ปฏิบัติงานให้ปลอดภัยและทำงานได้อย่างเต็มที่ในการดูแลชีวิตประชาชนได้มากที่สุด ก็ทำให้การทำงานสะดวกขึ้นไม่ติดขัด ถือเป็นขวัญกำลังใจผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งทุกวิชาชีพเห็นด้วย โดยยืนยันว่าแม้ร่างกฎหมายบอกว่าไม่ต้องรับผิด แต่บุคลากรทุกคนรับผิดชอบทุกชีวิต มาตรฐานการรักษาไม่ลดลง

Related Posts

Send this to a friend