PUBLIC HEALTH

ปศุสัตว์ แจง ไม่พบหลักฐานการแพร่เชื้อจากสัตว์เลี้ยงกลับสู่คน วอนผู้เลี้ยงอย่าตระหนก

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงกรณีที่แพทย์จุฬาฯ ระบุว่าพบการติดเชื้อโคงิด19 ของสุนัขและแมวในไทย โดยอ้างอิงจากงานวิจัยทีมคณะสัตวแพทยศาสตร์ ในวารสารวิชาการ ว่า ปัจจุบันทั่วโลกกำลังรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มีรายงานการติดเชื้อในสัตว์เพิ่มขึ้น โดยเริ่มมีรายงานตรวจพบเชื้อครั้งแรกในสุนัขและแมวที่ฮ่องกง ในปี 2563 และมีหลักฐานว่าแมวติดเชื้อในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน สามารถแพร่เชื้อไปยังแมวตัวอื่นได้ ต่อมา พบการติดเชื้อในตัวมิงค์ที่ประเทศเดนมาร์กและเนเธอร์แลนด์ และพบเชื้อในแมวที่มีอาการทางระบบหายใจและทางเดินอาหารในประเทศเบลเยียม ซึ่งเป็นสุนัขและแมวที่ใกล้ชิดกับเจ้าของ ที่ติดเชื้อโควิด-19

นอกจากนี้ยังมีรายงานการพบเชื้อในเสือโคร่ง โดยแสดงอาการทางระบบหายใจ ในสวนสัตว์ที่สหรัฐอเมริกา คาดว่าติดเชื้อมาจากพนักงานดูแลสัตว์ และยังมีรายงานว่าสามารถแพร่สู่สัตว์อื่นๆ ได้ด้วย เช่น กวาง พังพอน เสือ สิงโต หรือแม้แต่สัตว์ตระกูลลิงกอริลลา

สำหรับประเทศไทย พบรายงานครั้งแรกในเดือนเมษายน 2564 จากสุนัขที่นำมาผ่าตัดขา เนื่องจากเป็นมะเร็ง ที่โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยหลังผ่าตัด เพื่อนบ้านเจ้าของสุนัขได้แจ้งให้แพทย์ทราบว่า เจ้าของสุนัขติดเชื้อโควิด-19 จึงได้มีการเก็บตัวอย่างจากสุนัขไปตรวจเชื้อ

ปัจจุบันมีหลักฐานชัดเจนว่า มนุษย์สามารถแพร่เชื้อไปสู่สัตว์เลี้ยงได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า มีการแพร่เชื้อกลับจากสัตว์เลี้ยงไปสู่คน เพื่อเป็นแนวทางดำเนินการและข้อปฏิบัติในการดูแลสัตว์เลี้ยงของผู้ติดเชื้อ กรมปศุสัตว์จึงได้แจ้งข้อพึงปฏิบัติและมาตรการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง หากตรวจพบโรคโควิด-19 ในสัตว์เลี้ยงหรือสงสัยว่าสัตว์เลี้ยงติดเชื้อ สำหรับสถานพยาบาลสัตว์ที่รับฝากหรือรักษาสัตว์เลี้ยง ในกรณีที่เจ้าของสัตว์ป่วยด้วยโรคโควิด-19 รวมถึงข้อควรปฏิบัติไปยังหน่วยงานต่างๆ โดยสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://dcontrol.dld.go.th และได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายในประเทศ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มหาวิทยาลัย ตลอดจนหน่วยงานระหว่างประเทศ องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) อย่างต่อเนื่อง

อธิบดีกรมปศุสัตว์ เพิ่มเติมว่า ขอให้ผู้เลี้ยงสัตว์ทุกท่านอย่าตื่นตระหนก ไม่ทิ้งสัตว์เลี้ยง เพราะการทิ้งสัตว์เลี้ยงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ขอย้ำว่า ยังไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลว่าสามารถแพร่เชื้อจากสัตว์เลี้ยงกลับสู่คนได้ เพื่อเป็นการป้องกันและลดความความเสี่ยง จึงขอแนะนำว่า ควรเลี่ยงพาสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้าน และหากอยู่ในกลุ่มสงสัยว่าติดเชื้อหรือป่วยจากเชื้อโคงิด-19 ควรแยกตัวออกจากผู้อื่น รวมถึงสัตว์เลี้ยงด้วย โดยควรให้บุคคลอื่นที่มีสุขภาพดีเป็นผู้ดูแลแทน หรือหากสงสัยว่าสัตว์เลี้ยงสัมผัสโรคหรือสัตว์ติดเชื้อ ควรกักสัตว์แยกไว้ ไม่เข้าไปคลุกคลีอย่างน้อย 14 วัน ส่วนในกรณีจำเป็นต้องการนำไปฝากเลี้ยงหรือทำการตรวจรักษา ให้โทรศัพท์ปรึกษาสัตวแพทย์และแจ้งให้ทราบถึงประวัติเสี่ยง

Related Posts

Send this to a friend