PUBLIC HEALTH

มช. เผยสถิติ ไม่พบการเจ็บป่วยรุนแรง-เข้าโรงพยาบาลด้วยโควิด ในผู้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 4

ย้ำ ความครอบคลุมของวัคซีนมีความสำคัญกว่าชนิดของวัคซีน โชว์ผลการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนเข็มกระตุ้นจากการใช้งานจริง ทั้งในไทยและต่างประเทศพบ ใช้แอสตร้าเซนเนก้า เป็นเข็มกระตุ้น มีประสิทธิผลในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง การเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตไม่ต่างกับ mRNA

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร นำเสนอข้อมูลล่าสุดของแต่ละประเทศในเอเชียเกี่ยวกับการรับมือ ปกป้องดูแลประชาชน ตั้งแต่ช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ไปสู่โรคประจำถิ่น และผลการศึกษาประสิทธิผลการศึกษาการใช้วัคซีนจริงกว่า 50 กรณีศึกษา โดยได้ข้อสรุปว่า การฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 4 เป็นการเพิ่มระดับการป้องกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยข้อมูลการศึกษาจากการใช้จริงในทวีปเอเชียระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึง เมษายน 2565 นั้น ไม่พบการเจ็บป่วยรุนแรงในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนที่ได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 4 ที่เป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า หรือวัคซีน mRNA

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหนึ่งในทีมผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมการศึกษาในครั้งนี้ กล่าวว่า การศึกษาที่ผ่านมา มักจะเป็นการศึกษาในอีกซีกโลกหนึ่ง การศึกษาในไทยที่ทำในครั้งนี้เพื่อให้มีผลการศึกษาจากการใช้จริงในประเทศของเรา

ศ.นพ.สุวัฒน์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาพบว่าในเชียงใหม่กลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 4 แล้วไม่ว่าจะเป็นวัคซีนไวรัลเวคเตอร์ หรือ เอ็มอาร์เอนเอ ไม่มีกรณีเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตเลย การได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว และการได้รับวัคซีนอย่างครอบคลุมมีความสำคัญมากกว่าชนิดของวัคซีน เนื่องจากการศึกษาพบว่า การใช้เข็มกระตุ้นไม่ว่าจะเป็นชนิดใดมีประสิทธิผลในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง และการเสียชีวิตไม่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก ส่วนประสิทธิผลจะลดลงเท่าไหร่หลังการฉีดเข็มกระตุ้นไปแล้ว 6 เดือน ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา และเก็บข้อมูล

“ในขณะที่โอมิครอนกลายเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์หลักที่ระบาดทั่วโลก การศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนที่เราใช้เป็นวัคซีนหลักทั่วโลกจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง รายงานการวิเคราะห์ข้อมูลฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า วิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงอันเนื่องมาจากสายพันธุ์โอมิครอน คือการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่เรามีอยู่แล้ว เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง”

ศาสตราจารย์กาย ทเวทส์ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยทางคลินิกของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดในเวียดนาม หนึ่งในทีมผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมการศึกษาในครั้งนี้ กล่าวว่า “การศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการกำหนดนโยบายการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่โรคประจำถิ่น ซึ่งทำให้เห็นแนวทางว่าคนทั่วไปควรได้รับวัคซีนกระตุ้นทุกๆ ปี ในขณะที่กลุ่มเปราะบางควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นทุก 6 เดือน รายงานการวิเคราะห์ข้อมูลฉบับนี้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้รัฐบาลประเทศต่างๆ และสาธารณชน ว่าการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั้งชนิดไวรัลเวคเตอร์ และชนิด mRNA เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น มีประสิทธิผลในการป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรงจากโอมิครอนได้ดี โดยมีระดับภูมิคุ้มกันลดลงน้อยมาก แม้ว่าจะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นผ่านไปแล้ว 3 เดือน”

ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้ได้รับการตีพิมพ์ออนไลน์เมื่อวานนี้ ซึ่งทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากกรณีศึกษาจำนวน 50 เรื่อง บน Viewhub ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแบบอินเตอร์แอคทีฟที่แสดงข้อมูลจากทั่วโลกพร้อมภาพประกอบเกี่ยวกับการใช้วัคซีนและผลที่เกิดขึ้น โดยพัฒนาขึ้นจากความร่วมมือของวิทยาลัยสาธารณสุขจอห์น ฮอปกินส์ บลูมเบิร์ก (Johns Hopkins Bloomberg School of Public Health) และศูนย์การเข้าถึงวัคซีนนานาชาติ (International Vaccine Access Center)

ข้อมูลจากการวิเคราะห์ยังแสดงให้เห็นว่าการใช้วัคซีนอื่นๆ เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น สามารถป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงจากโอมิครอนได้ดี แต่มีประสิทธิผลต่ำกว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนชนิด mRNA เล็กน้อย

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนชนิด “ไวรัลเวคเตอร์” หรือ ‘ไวรัสพาหะ’ ซึ่งหมายถึงการนำเชื้อไวรัสที่ไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของวัคซีน ซึ่งจะทำให้ร่างกายเรียนรู้ว่าจะต่อสู้กับเชื้ออย่างไรหากสัมผัสกับไวรัสจริงในภายหลัง โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนวิธีนี้ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เพื่อต่อสู้กับโรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ซิกา อีโบลา และเอชไอวี เป็นต้น

Related Posts

Send this to a friend