PUBLIC HEALTH

ศูนย์จีโนม เตือน สายพันธุ์ย่อยโอมิครอนทำลายปอด รุนแรงเท่าเดลต้า

วันนี้ (8 พ.ค. 65) ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยสถานการณ์โควิดสายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อยที่ต้องจับตา โดยระบุว่า การกลายพันธุ์บนสายจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 บริเวณยีนที่สร้างหนาม (Spike gene) ณ. ตำแหน่ง 452 อาจเป็นปัจจัยสำคัญทำให้โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5, และ BA.2.12.1 มีความสามารถที่จะแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น และมีคุณสมบัติในการเชื่อมต่อผนังเซลล์ (ปอด) จากหลายเซลล์เข้ามาเป็นเซลล์เดียว ก่อให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อปอดได้เช่นเดียวกับการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาที่ระบาดในอดีต

จากการถอดรหัสพันธุกรรม พบการเปลี่ยนแปลงบริเวณส่วนหนามตำแหน่งที่ 452 จากกรดอะมิโนลิวซีน (L) เปลี่ยนมาเป็นอาร์จีนีน (R) หรือ กลูตามีน (Q) ทำให้ส่วนหนามมีคุณสมบัติที่สามารถเชื่อมต่อผนังเซลล์ที่อยู่ใกล้เคียง หลอมรวมเป็นเซลล์เดียว ส่งผลให้ไวรัสสามารถแพร่ไประหว่างเซลล์ต่อเซลล์ได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องออกมานอกเซลล์ที่สุ่มเสี่ยงจะถูกจับและทำลายด้วยแอนติบอดี ที่ถูกสร้างในร่างกายผู้เคยติดเชื้อตามธรรมชาติและจากการฉีดวัคซีน

เซลล์ปอดติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่หลอมหลวมรวมเป็นเซลล์เดียว จะเป็นเซลล์ขนาดใหญ่ โดยภายในเซลล์มีหลายนิวเคลียส ดีเอ็นเอภายในเซลล์ดังกล่าวถูกทำลายแตกหัก ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ติดเชื้อมองเป็นสิ่งแปลกปลอมและเข้ามาทำลายเซลล์ที่มีหลายนิวเคลียสเหล่านั้น เกิดการอักเสบลุกลาม เกิดเป็นปอดบวม ซึ่งอาจทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตได้

ศูนย์จีโนมฯ ยังระบุว่า สายพันธุ์เดลตามีการกลายพันธุ์ของหนามเป็น R452 ก่อให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง จากอาการปอดอักเสบ จากการหลอมหลวมของเซลล์ติดเชื้อหลายเซลล์เข้ามารวมเป็นเซลล์เดียวกัน ตรงกันข้ามกับสายพันธุ์โอมิครอนดั้งเดิม (B.1.1529) เช่น BA.1, BA.1.1 และ BA.2 ไม่มีการกลายพันธุ์ กรดอะมิโนยังคงเป็น L452 สอดคล้องกับอาการทางคลินิกของโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมที่อาการไม่รุนแรง สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่เกิดในเซลล์ปอดที่ติดเชื้อ

แต่ที่น่ากังวล คือ ทั้งไวรัส “BA.4” และ “BA.5” ที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้เฝ้าระวังเพราะกำลังมีการระบาดในประเทศแอฟริกาใต้ กลับมีการกลายพันธุ์เป็น R452 ส่วนไวรัส BA.2.12.1 ที่ระบาดในสหรัฐอเมริกา ก็มีการกลายพันธุ์เป็น Q452 กลับไปเหมือนกับสายพันธุ์เดลตา คือ สามารถก่อให้เกิดเซลล์ติดเชื้อหลายเซลล์เข้ามาหลอมรวมเป็นเซลล์เดียวกัน

ดังนั้น มีแนวโน้มที่โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5, BA.2.12.1 อาจจะมีการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่ง WHO และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังเฝ้าติดตามอาการทางคลินิกจากการติดเชื้อ BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 จากประเทศแอฟริกาใต้และสหรัฐอเมริกาใน 2-4 สัปดาห์จากนี้ โดยข้อมูลอัปเดตล่าสุดพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลของ 2 ประเทศ เริ่มเพิ่มขึ้นแล้ว แต่อัตราผู้เสียชีวิตยังคงเดิม

Related Posts

Send this to a friend