PUBLIC HEALTH

สธ.เร่งฉีดวัคซีนประชาชนกลุ่มเสี่ยงใน 29 จังหวัดแดงเข้ม ให้ได้ร้อยละ 70 ในเดือน สค.นี้

กระทรวงสาธารณสุข เร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 608 ในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัดให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 70 จังหวัดที่เหลือให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในสิ้นเดือนสิงหาคม เพื่อลดป่วยหนักและเสียชีวิต ส่วนบุคลากรการแพทย์ด่านหน้าได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ไปแล้ว 46,000 คน ไม่พบอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง

วันนี้ (7 ส.ค. 64) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุขจ.นนทบุรี นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 และวัคซีนโควิด-19 โดยนายแพทย์จักรรัฐกล่าวว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า 

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยวันนี้ มีผู้ป่วยหายกลับบ้านได้ 21,108 ราย ใกล้เคียงกับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 21,839 ราย ส่วนผู้เสียชีวิต 212 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้เสียชีวิตพบว่า เป็นผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีน 172 ราย คิดเป็นร้อยละ 89.58 ได้รับวัคซีน 1 เข็ม 19 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.90 และได้รับวัคซีน 2 เข็ม 1 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.52 แสดงให้เห็นทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าวหากยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนจะเสี่ยงป่วยหนักและเสียชีวิตได้

ส่วนแนวโน้มผู้ติดเชื้อในประเทศขณะนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในต่างจังหวัด เนื่องจาก 1.ผู้ติดเชื้อเดินทางออกจากพื้นที่ระบาดกลับภูมิลำเนาเพื่อรักษา 2. ผู้เดินทางกลับภูมิลำเนาไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ และไปแพร่เชื้อคนที่บ้าน 3.มีการระบาดในโรงงาน/สถานประกอบการทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ดังนั้น ผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนาต้องคิดเสมอว่าตนเองมีความเสี่ยง ให้ป้องกันตนเองและคนรอบข้างอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อต่อ 

สำหรับมาตรการล็อกดาวน์จากการดำเนินการถึงขณะนี้ พบว่ามีประสิทธิภาพประมาณร้อยละ 20 ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังไม่ลดลงเท่าที่ควร ดังนั้นต้องเข้มการล็อคดาวน์ตัวเอง ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็นเพื่อไม่รับเชื้อจากนอกบ้าน เว้นระยะห่างในครอบครัว เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อ และหากสงสัยติดเชื้อให้ตรวจด้วยชุดตรวจ ATK เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็ว ซึ่งเมื่อร่วมกับการเร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงเป้าหมายจะช่วยทำให้ผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลดลงได้ โดยภายในสิ้นเดือนสิงหาคม พื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด ต้องครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 70 ส่วนจังหวัดที่เหลือมากกว่าร้อยละ 50

ด้านนายแพทย์โสภณ กล่าวว่า ข้อมูลถึงวันวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว20,280,108 โดส เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 15,687,291 โดส เข็มที่ 2 จำนวน 4,406,723 โดส และกระตุ้นเข็มที่ 3 ไปแล้ว 186,094 โดส สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ ที่ได้รับบริจาคจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจำนวน 1.5 ล้านโดสจัดสรรให้กับบุคลากรการแพทย์ด่านหน้าที่มีความเสี่ยงจากการดูแลผู้ป่วย ซึ่งรวมถึงนักศึกษาแพทย์-พยาบาลชั้นคลินิก เจ้าหน้าที่สอบสวนโรค เจ้าหน้าที่ในสถานกักกัน โรงพยาบาลสนาม ฮอสพิเทล ห้องปฏิบัติการ และวิชาชีพอื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยโควิด และให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั้งชาวไทยและต่างชาติที่อาศัยในประเทศ รวมถึงผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน นักศึกษา นักธุรกิจ เป็นต้น 

ขณะนี้ได้กระจายวัคซีนไปยังโรงพยาบาลประจำจังหวัดหรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 170 แห่งทั่วประเทศรอบแรกตั้งแต่วันที่ 4-6 สิงหาคม ส่งไปแล้ว 446,160 โดส และมีบุคลากรการแพทย์ได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ไปแล้วประมาณ 46,000 คน ยังไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง โดยสัปดาห์หน้าจะเริ่มฉีดกลุ่มเสี่ยง608 ใน 13 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า จากการสอบสวนการระบาดของโรคโควิด-19 ในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแห่งหนึ่งใน กทม. ซึ่งมีผู้สูงอายุ 68 คน ในจำนวนนี้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าก่อน 1 กรกฎาคม 48 คน พบติดเชื้อ 17 คน คิดเป็นอัตราป่วยร้อยละ 35.4 เสียชีวิต 1 คน คิดเป็นอัตราป่วยตายร้อยละ 5.9 และมีผู้ฉีดวัคซีนหลัง 1 กรกฎาคม 7 คน พบติดเชื้อ 3 คน คิดเป็นอัตราป่วยร้อยละ 42.9 ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนผู้สูงอายุที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนอีก 13 คน ติดเชื้อ 9 ราย คิดเป็นอัตราป่วยร้อยละ 69.2 เสียชีวิต 4 คน คิดเป็นอัตราป่วยตายร้อยละ 44.4 แสดงให้เห็นว่า แม้ฉีดวัคซีนเพียง 1 เข็ม สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อและลดโอกาสเสียชีวิตได้ จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องเร่งรัดการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวให้เร็วที่สุด 

Related Posts

Send this to a friend