PUBLIC HEALTH

นร.-นศ. ฉีดไฟเซอร์แล้วเกิดผลข้างเคียง ยื่นเรื่องรับเงินช่วยเหลือจาก สปสช.ได้

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเด็กนักเรียนอายุ 12 ปีขึ้นไปว่า จากข้อมูลระบบการรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการได้รับวัคซีนของ CDC ประเทศสหรัฐอเมริกา แม้จะมีรายงานผลข้างเคียงการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเยื้อหุ้มหัวใจอักเสบ หลังจากการฉีดวัคซีนชนิด mRNA แต่ด้วยจำนวนผู้ที่เกิดผลข้างเคียงมีไม่มาก และประโยชน์ที่ได้รับจากฉีดวัคซีนมีมากกว่า องค์การอนามัยโลก รวมถึงราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงยังคงแนะนำให้เด็กนักเรียนช่วงอายุดังกล่าว เข้ารับการฉีด เพื่อเฝ้าระวังและไม่ประมาท

สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค จึงได้จัดทำคำแนะนำ “การวินิจฉัยและรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบที่เกิดภายหลังการได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ ฉบับวันที่ 1 ตุลาคม 2564

คำแนะนำได้ระบุถึงอาการไม่พึงประสงค์ที่สังเกตได้ คือ เจ็บหน้าอก หายใจไม่สะดวก รู้สึกเหนื่อย หายใจแล้วรู้สึกเจ็บหน้าอก ใจสั่น เป็นลมหมดสติ โดยผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดจุกแน่นท้องบริเวณด้านขวาบน หรือลิ้นปี่ ซึ่งเป็นผลจาก hepatic congestion พบได้ในภาวะ right-sided heart failure ในบางรายอาจมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ และตรวจพบค่าโปรตีนโทรโปนิน (troponin) มีระดับสูงขึ้น อาการแสดงเหล่านี้มักเกิดเร็วหลังได้รับวัคซีน เฉลี่ยจะแสดงอาการในวันที่ 3-7 หลังจากได้รับวัคซีน

หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้ขึ้น สปสช.โดยการสนับสนุนจากรัฐบาล ได้จัดระบบการช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับผลกระทบ โดยมีหลักการจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้น ไม่ไช่การพิสูจน์ถูกผิด หรือชี้ชัดว่าเป็นผลที่เกิดจากการฉีดวัคซีนแต่อย่างใด แต่เป็นเงินเยียวยาเพื่อลดผลกระทบที่เกิดแก่ประชาชน เมื่อมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น โดยสามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกับ สปสช. ได้ที่โรงพยาบาลที่ฉีด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือที่สำนักงาน สปสช.สาขาเขตพื้นที่ทั้ง 13 เขต มีระยะเวลายื่นคำร้องภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ทราบความเสียหาย

หลักเกณฑ์การพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้น แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ มีอาการป่วยต้องรักษาต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท , เกิดความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท , กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท

สามารถดาวน์โหลดแบบคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโควิดได้

Related Posts

Send this to a friend