PUBLIC HEALTH

กทม.ออก 7 มาตรการเข้ม ป้องกันโควิดในโรงเรียน

กทม.ออก 7 มาตรการเข้ม ป้องกันโควิดในโรงเรียน ห่วงกลุ่ม 608 ย้ำ สวมแมสก์ให้มากที่สุด รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ลดการติดเชื้อ

วันนี้ (5 ก.ค. 65) ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยสถานการณ์โควิด-19 ในกรุงเทพมหานครว่า จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กทม.จึงทำมาตรการเชิงรุกสำหรับกลุ่มนักเรียน กลุ่ม 608 และกลุ่มบังเอิญเสี่ยงจากการสัมผัสใกล้ชิด เตรียมระบบป้องกัน ระบบส่งต่อ พร้อมสำรวจอัตราการครองเตียง แผนเพิ่มเตียงและอุปกรณ์ทางการแพทย์ กรณีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า

กลุ่มนักเรียนมีอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากตัวเลขนักเรียนในสังกัด กทม.ติดเชื้อโควิดรายระดับชั้น ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. – 4 ก.ค.65 พบนักเรียนติดเชื้อ 1,885 คน จากนักเรียนทั้งหมด 253,515 คน แบ่งเป็น ระดับอนุบาลศึกษา ติดเชื้อ 148 คน ระดับประถมศึกษา 1,375 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 304 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ติดเชื้อ 58 คน

กทม.จึงออก 7 มาตรการเข้ม สร้างความปลอดภัย ป้องกันโควิด-19 ในสถานศึกษา ดังนี้

1.ประเมิน Thai Stop Covid Plus (TSC+)
2.หยุดกิจกรรมรวมกลุ่มใหญ่ ทำกิจกรรมกลุ่มย่อย
3.จัดระบบให้บริการอาหารตามหลักสุขาภิบาล และโภชนาการ
4.อนามัยสิ่งแวดล้อมตามเกณฑ์มาตรฐาน (การระบายอากาศ และการจัดการขยะ)
5.จัดทำแผนเผชิญเหตุ เตรียมพร้อม School Isolation

  1. ควบคุมการเดินทางเข้า-ออกสถานศึกษา
  2. School Pass เก็บประวัติการรับวัคซีน และผลคัดกรองเชื้อ สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรการศึกษา

ทั้งนี้หากกรณีคลัสเตอร์เล็ก ๆ ขอให้เป็นดุลยพินิจของผู้บริหารโรงเรียน ส่วนกลุ่มผู้ป่วยวิกฤต มีอัตราการครองเตียงเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่วนใหญ่ต้องรักษาพยายาลซับซ้อน และเป็นกลุ่ม 608 ห่างจากการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นเวลานาน กลุ่มนี้จึงต้องระมัดระวังมากกว่าปกติ ขอเน้นย้ำให้สวมหน้ากากอนามัยให้มากที่สุด เมื่อไม่ได้อยู่ในพื้นที่ส่วนตัว โดย ศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงพยาบาลในสังกัด กทม.จะจัดบริการวัคซีนเข็มกระตุ้น และจัดทีมลงไปให้บริการในชุมชนด้วย

ผศ.ดร.ทวิดา ระบุว่า กทม.จะยังรายงานตัวเลขรายวัน รายเขตอยู่ เพื่อใช้ข้อมูลในการทำนายการระบาดรายสัปดาห์ ยอมรับว่า ที่ผ่านมาศักยภาพของศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงพยาบาลสังกัด กทม.รับผู้ป่วยโควิด-19 ได้อยู่เพียง 30-40% ของผู้ป่วยทั้งหมด จากนี้ กทม.จึงจะเชื่อมระบบกับภาคประชาสังคม และโรงพยาบาลอื่น เพื่อให้ระบบรองรับผู้ป่วยมีศักยภาพมากขึ้น หากสถานการณ์โควิด-19 รุนแรง อาจนำระบบจัดสรรผู้ป่วยเขียว เหลือง แดง กลับมาอีกครั้ง พร้อมทั้งมอบหมายให้โรงพยาบาลในสังกัดใช้ระบบเทเลเมดิซีน เพื่อให้ดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง

“กทม.มีประชากรเยอะมาก รวมทั้งประชากรที่เข้า-ออก การอยู่ในเมืองหลวง กิจกรรมภาคบริการแนบแน่นมาก จากข้อมูลพบเดือน ม.ค.-มี.ค.65 มีนักท่องเที่ยวใน กทม.ราว 5 แสนคน ส่วน พ.ค.-มิ.ย.65 มีนักท่องเที่ยว 8 แสนคน กทม.จึงต้องขอลดความเสี่ยงลง”

Related Posts

Send this to a friend