PUBLIC HEALTH

ก้าวไกล จี้นายกฯ ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีน ทวง AZ เดือนละ 10 ล้านโดส ตามสัญญา

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกลแถลงข้อสั่งการต่อรัฐบาล กรณีการแพร่ระบาดของโควิด – 19  โดยกล่าวว่า เหตุการณ์ วันที่ 30 พ.ค. ที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ละทิ้งหน้าที่ไม่มาประชุมสภา วันต่อมา วันที่ 1 มิ.ย. รัฐมนตรีหนีสภาโดยไม่มาตอบกระทู้สด ส่วนในช่วงเย็น รองประธานสภาฯ ที่เป็น ส.ส. ในฝ่ายรัฐบาล กลับปิดประชุมสภาฯเอาดื้อๆ ไม่รับฟังข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องสรุปสาระสำคัญของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อยู่ในภาวะวิกฤติ พร้อมกับข้อสั่งการเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบ และดำเนินการอย่างเร่งด่วน 

“แพทย์และพยาบาลเมื่อต้องดูแลผู้ป่วยจำนวนที่มากขึ้น ก็อยู่ในสภาวะ Overload ทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจะปล่อยให้สภาพที่จำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าจำนวนผู้ที่หายกลับบ้าน วันละ 2-3 พัน คน ดำรงอยู่ภายใต้นโยบายในการจัดการแบบเดิมไม่ได้” วิโรจน์ ระบุ

โฆษกพรรคก้าวไกล ยังตั้งคำถามถึง การส่งมอบวัคซีน AstraZeneca ที่มีกำหนดต้องส่งมอบในเดือน มิ.ย. ที่ 6,333,000 โดส จากข้อมูลที่ปรากฎในระบบติดตามตรวจสอบย้อนกลับโซ่ความเย็น ที่จัดทำขึ้นโดยกระทรวง อว. พบว่ามีการส่งมอบเพียง 5,371,100 โดส เท่านั้น ยังขาดการส่งมอบอีก 961,900 โดส ยอดที่ขาดส่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะต้องไปเร่งติดตามมาให้ได้ เพราะหมายถึงเกือบ 1 ล้านชีวิตของประชาชนคนไทย

.

“ที่น่ากังวลก็คือ ข่าวที่เพิ่มเติมออกมาว่า ตั้งแต่เดือน ก.ค. เป็นต้นไป AstraZeneca Thailand จะเริ่มส่งออกวัคซีนไปยังประเทศต่างๆ โดย 1 ใน 3 ของกำลังการผลิต จะสำรองไว้ให้กับประเทศไทย นั่นหมายความว่าจากกำลังการผลิต 180-200 ล้านโดสต่อปี หรือ 15-17 ล้านโดสต่อเดือน AstraZeneca Thailand จะส่งมอบให้กับประเทศไทยเพียงแค่ 5-6 ล้านโดสต่อเดือนเท่านั้น

“ต้องตั้งคำถามว่า ถ้ารัฐบาลไปทำสัญญาเช่นว่านี้จริง ก็ถือว่าเป็นความหละหลวมใหญ่หลวงมาก สัญญาอะไรเพียงแต่กำหนดกรอบตัวเลขคร่าวๆ แล้วอย่างนี้จะวางแผนการฉีดวัคซีนให้เกิดประสิทธิภาพได้อย่างไร”

วิโรจน์ ยืนยันว่า ประเทศไทยมีความชอบธรรมที่จะได้รับวัคซีนจาก AstraZeneca Thailand เดือนละ 10 ล้านโดส ส่วนที่เหลืออีก 5-6 ล้านโดส AstraZeneca Thailand จึงสามารถนำไปส่งออกไป การที่ AstraZeneca Thailand จะส่งมอบให้กับประเทศไทยเพียงแค่ 5 ล้านโดสต่อเดือน เป็นการไม่ยุติธรรมต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงิน 600 ล้านบาท ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องเปิดเผยสัญญาระหว่างรัฐบาลไทยกับ AstraZeneca Thailand ว่ามีเงื่อนไขนี้บรรจุอยู่หรือไม่ ถ้าไม่มีเท่ากับว่ารัฐบาลเอาเงินภาษีของประชาชน 600 ล้านบาท ไปอุดหนุนเอกชน โดยไม่ได้ทำตามเงื่อนไขตามที่ได้แจ้งให้ประชาชนทราบ ซึ่งหากไม่สามารถชี้แจงได้ อาจเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง

วิโรจน์ ชี้ว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยจัดหาวัคซีน Sinovac มาแล้ว 19.5 ล้านโดส โดยรับบริจาคจากประเทศจีนมา 1 ล้านโดส มีมติ ครม. เพียง 2.5 ล้านโดส ที่เหลือ 16 ล้านโดส คาดว่าใช้งบประมาณ 10,291 ล้านบาท แต่ไม่ปรากฏมติ ครม. ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นมติลับ และไม่เข้าใจว่าทำไมต้องลับหรือเปิดเผยให้ประชาชนทราบไม่ได้ หรืออาจจะเกี่ยวข้องกับประเด็นในเรื่องราคาวัคซีน ที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ราคาวัคซีน Sinovac ที่รัฐบาลไทยซื้อ อาจแพงกว่าประเทศอื่น

ต่อกรณีการจัดหาวัคซีนชนิดอื่นเช่น mRNA ที่มีประสิทธิภาพกว่า วิโรจน์ กล่าวว่า “ด้วยข้อมูลประสิทธิผลในการสร้างภูมิคุ้มกันของวัคซีนชนิด mRNA ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่เป็นทางการที่มีอยู่เต็มไปหมดจากทั่วโลก เป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะไม่รับรู้ ด้วยเหตุนี้แพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนประชาชนที่ติดตามข้อมูลข่าวสาร จึงมีข้อสงสัยอย่างมากว่า เหตุใดรัฐบาลจึงไม่เคยกระตือรือร้นที่จะจัดหาวัคซีนชนิด mRNA เลย ไม่เคยที่จะเร่งรัดกดดันให้ AstraZeneca Thailand ส่งมอบวัคซีนให้ครบตามแผนการส่งมอบ แต่กลับกระเหี้ยนกระหือรือที่จะซื้อวัคซีน Sinovac ซึ่งถ้ารัฐบาลซื้ออีก 28 ล้านโดส เท่ากับว่ารัฐบาลจะต้องจ่ายเงินซื้อวัคซีน Sinovac รวมทั้งสิ้น 46.5 ล้านโดส เป็นเงิน 25,226.25 ล้านบาท ซึ่งถ้าซื้อในราคาที่อินโดนีเซียซื้อ จะมีส่วนต่างถึง 4,580.25 ล้านบาท” 

นายวิโรจน์ กล่าวว่า จากเหตุผลดังกล่าว จึงจำเป็นต้องสั่งการ พร้อมกับเรียกร้อง ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งดำเนินการ ดังนี้

หนึ่ง การบริหารจัดการวัคซีน ให้ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีน พ.ศ. 2561 ในการบังคับให้ AstraZeneca Thailand ส่งมอบวัคซีนให้เป็นไปตามแผนการส่งมอบเดือนละ 10 ล้านโดส ตามเงื่อนไขที่รัฐบาลอุดหนุนให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ 600 ล้านบาท ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ และสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย จัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลต่อเชื้อสายพันธุ์เดลต้า และเชื้อกลายพันธุ์ต่างๆ เช่น วัคซีนชนิด mRNA และวัคซีนชนิด Viral Vector มาแทนวัคซีน Sinovac และต้องยุติการสั่งซื้อวัคซีน Sinovac รวมถึงต้องเปิดเผยสัญญาและเงื่อนไขข้อตกลงการสั่งซื้อวัคซีน ที่รัฐบาลได้ทำไว้กับ AstraZeneca Thailand และ Sinovac ตลอดจนมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาวัคซีนทั้งหมด เร่งจัดฉีดวัคซีนเสริมภูมิให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า และเร่งปรับปรุงระบบฐานข้อมูลการลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีน ให้เชื่อมต่อกับระบบฐานข้อมูล MOPH IC ของกระทรวงสาธารณสุข 

สอง  การบริหารจัดการเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ของระบบสาธารณสุข และการดูแลชีวิตของประชาชน  ต้องเร่งดำเนินการมาตรการการกักตัวรักษาตนเอง หรือ Home Isolation โดยมีระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ที่ติดตามอาการ สั่งจ่ายยาโดยแพทย์ และมีระบบในการจัดส่งยาให้กับผู้ป่วยถึงบ้าน มีระบบติดต่อฉุกเฉิน (Emergency Call) และมีระบบจัดส่งอาหาร (Food Delivery) ให้กับผู้ป่วยตลอดระยะเวลาที่กักตัวรักษาตนเองที่บ้าน และพิจารณาอนุญาตให้ผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลที่ยังไม่ครบระยะเวลา 14 วัน แต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเบาบาง ในกรณีที่เข้าเงื่อนไขที่สามารถกักตัวรักษาตนเองได้ ให้กักตัวรักษาตนเอง เพื่อจัดสรรเตียงให้กับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง และอาการหนัก

สาม รัฐบาลควรเร่งตรวจเชิงรุกด้วย Rapid Antigen Test พร้อมกับอนุญาตให้ประชาชนได้เข้าถึงชุดตรวจที่ผ่านมาตรฐาน อย. เพื่อตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง เพื่อแยกผู้ติดเชื้อมารักษา สกัดกั้นการระบาด 

สี่ รัฐบาลทราบอยู่แล้วว่า การจัดฉีดวัคซีนที่ล่าช้ามีมูลค่าความเสียหายสูงถึงเดือนละ 200,000 ล้านบาท จากการที่ นายอนุทิน ก็ได้ทำหนังสือแจ้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทราบด้วยตัวเอง 

ห้า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดหลักเกณฑ์ในการล็อกดาวน์ และผ่อนคลาย โดยคำนึงถึงสถานการณ์การติดเชื้อและขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขในแต่ละพื้นที่ แบบเป็นขั้นบันได เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงสถานการณ์ และวางแผนรับมือด้วยตนเองส่วนหนึ่งได้ และมีส่วนร่วมกับรัฐบาลในการคลี่คลาย และบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดด้วย

Related Posts

Send this to a friend