PUBLIC HEALTH

กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีฯ ชี้ รัฐมีมาตรการเยียวยาราวกับ ‘ชิงโชค’ ‘ตัวแทน’ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอรัฐเยียวยาแรงงานหญิงช่วงโควิด

วันนี้ (1 ก.พ. 64) ตัวแทนกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี อาทิ น.ส.ธนพร วิจันทร์ พร้อมเครือข่าย เช่น สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย กลุ่มทำทาง พร้อมประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ รวมตัวกันใกล้กับประตู 1 ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เร่งเยียวยาประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานผู้หญิง เด็ก และกลุ่มเปราะบางอื่นๆ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมี นายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนมารับหนังสือ
 
น.ส.ธนพร เป็นตัวแทนอ่านแถลการณ์ ซึ่งบางช่วงบางตอนระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ ฝืดเคือง อันเป็นผลมาจากการความผิดพลาดของรัฐที่ไม่สามารถเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมในการควบคุมโรคระบาดไปพร้อมๆ กับพยุงความเป็นอยู่และปากท้องของประชาชนเอาไว้ได้ จะเห็นว่าการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ต้นปี 2564 มีผู้ได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่เด็กนักเรียนที่ต้องเปลี่ยนรูปแบบมาเรียนออนไลน์ ผู้ปกครองที่ต้องทำงานจากที่บ้าน (work from home) ไปพร้อมกับดูแลบุตรหลาน ทั้งยังต้องรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น
ธนพร วิจันทร์ ตัวแทนกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี
น.ส.ธนพร กล่าวด้วยว่า รัฐบาลกลับมีมาตรการเยียวยาผู้เดือดร้อนเพียงบางส่วน กล่าวคือ ใช้วิธีราวกับให้ประชาชน ‘ชิงโชค’ แย่งกันกดรับสวัสดิการ โดยไม่พิจารณาข้อเท็จจริงเลยว่ามีผู้เดือดร้อนอยู่ถ้วนทั่วทุกคน โดยเฉพาะแพทย์และพยาบาลหญิงที่ต้องทำงานหนักโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันเพื่อความปลอดภัยในการทำงานท่ามกลางโรคระบาด (ชุด PPE) ที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ พยาบาลหญิงที่ไม่มีสามีและลูกถูกขอร้องให้ทำงานล่วงเวลา ในช่วงโรคระบาดโควิด-19 โดยไม่พิจารณาข้อเท็จจริงว่าเธอยังมีภาระทางบ้านอื่นให้ดูแลเช่นกัน
 
ดังนั้น จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเยียวยาประชาชนอย่างถ้วนหน้า โดยจ่ายเป็นเงินสด เพื่อให้สะดวกต่อการเข้าถึงสำหรับประชาชนที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน หรืออินเทอร์เน็ต และรัฐต้องจัดหางบประมาณแผ่นดินส่วนอื่นมาเยียวยาประชาชน โดยไม่นำเงินจากกองทุนประกันสังคม มาใช้เด็ดขาด เพราะเงินประกันสังคมเป็นกองทุนที่มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการใช้อยู่แล้ว นอกจากนี้รัฐต้องจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กลูกคนงานในย่านอุตสาหกรรม และชุมชนอุตสาหกรรมโดยไม่ต้องคำนึงถึงการมีทะเบียนบ้านในพื้นที่ พร้อมจ่ายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท ตั้งแต่ เดือน ก.พ 2564
อย่างไรก็ตาม รัฐต้องมีมาตรการเรื่องการแก้ไขละเมิดสิทธิแรงงาน โดยอ้างเหตุโควิด-19 เพราะที่ผ่านมามีการเลิกจ้างผู้นำแรงงานหญิง และอ้างเหตุโรคระบาด เพื่อปิดบังเจตนาที่แท้จริงของนายจ้าง ที่ต้องการขัดขวางกระบวนการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และต้องมีมาตรการแก้ไข ปราบปราม ป้องกันการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเร่งด่วน สร้างความมั่นคงในอาชีพและรายได้ ให้แรงงานทุกกลุ่มอาชีพให้ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม
 
โดยข้อเรียกร้องทั้งหมด เป็นข้อเรียกร้องเดิมที่เคย ยื่นไปแล้วเมื่อวันที่ 8 มี.ค 63 และจะมาทวงถามอีกครั้ง ในวันที่ 8 มี.ค นี้

Related Posts

Send this to a friend