ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ชวนส่องเทรนด์อสังหาฯ ยุดใหม่ รองรับการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยของคู่รัก LGBTQIAN+
ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์ รวบรวมข้อมูลข่าวสารและเรื่องราวน่ารู้ในแวดวงอสังหาฯ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนเลือกที่อยู่อาศัยในฝัน เพื่อให้ผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยสามารถศึกษาหาข้อมูลทุกเรื่องที่สนใจ โดยเฉพาะในกลุ่ม LGBTQIAN+ ซึ่งหากร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมผ่านเป็นกฎหมายแล้ว จะช่วยคู่สมรส LGBTQIAN+ ให้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยร่วมกันได้อย่างไร พร้อมทั้งอัปเดตเทรนด์ที่อยู่อาศัยมาแรง ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์วิถี LGBTQIAN+ ที่น่าจับตามองในยุคนี้
สำหรับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้ตามกฎหมาย พร้อมมีสิทธิในการสมรสไม่ต่างจากคู่สมรสชายหญิง โดยมีเนื้อหาที่ตอบโจทย์มากกว่าร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ทั้งในเชิงหลักการและในเชิงปฏิบัติ หากมีการยังคับใช้ในอนาคต จะช่วยให้คู่สมรส LGBTQIAN+ เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยร่วมกันตามกฎหมาย ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจดังต่อไปนี้
- เปิดโอกาสในการกู้ซื้ออสังหาฯ ร่วมกัน ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมจะเปิดทางให้คู่รักทุกเพศสามารถจดทะเบียนสมรสได้ ทำให้สามารถยื่นกู้ร่วมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในนามคู่สมรส และมีกรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยร่วมกันเช่นเดียวกับคู่สมรสชาย-หญิง
- ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมจะช่วยให้คู่สมรส LGBTQIAN+ มีสิทธิในการบริหารจัดการสินสมรสร่วมกันตามกฎหมาย ได้แก่ ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส ทั้งนี้ในกรณีที่มีการซื้อบ้าน คอนโดมิเนียมตั้งแต่ตอนยังโสดจะถือว่าที่อยู่อาศัยนั้นเป็นสินส่วนตัว หากมีการจดทะเบียนสมรสในภายหลัง และต้องการเพิ่มชื่อคู่สมรสเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ส่วนกรณีซื้อบ้าน คอนโดฯ หลังจดทะเบียนสมรสแล้วจะถือว่าเป็นสินสมรส หากต้องการเพิ่มชื่อคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสเรียบร้อยแล้วเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อีกคน จะเสียค่าธรรมเนียมอยู่ที่ประมาณ 75 บาท หรือหากต้องการเพิ่มชื่อคู่สมรสในกรณีที่ต้องการเปลี่ยนจากการกู้เดี่ยวมาเป็นการกู้ร่วมนั้น ธนาคารจะนำรายได้และภาระหนี้ของคู่สมรสที่กู้ร่วมมาพิจารณาด้วยอีกครั้ง
- สิทธิในการรับมรดกจากคู่สมรส ตามพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558 เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากผู้ได้รับมรดกที่มีมูลค่ารวมเกิน 100 ล้านบาท ทั้งนี้ผู้รับมรดกเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมรดก หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตและไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ คู่สมรสที่ยังมีชีวิตจะถือเป็นทายาทโดยธรรมอันมีสิทธิรับมรดกของคู่สมรสที่เสียชีวิตตามกฎหมาย โดยไม่ต้องเสียภาษีมรดกเช่นกัน
ทั้งนี้ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) ยังรวบรวมและอัปเดตเทรนด์ที่อยู่อาศัยมาแรง ซึ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ชาว LGBTQIAN+ ที่น่าจับตามองในยุคนี้ อันประกอบไปด้วย
- Pet Humanization รักสัตว์เลี้ยงเหมือนลูก ผลสำรวจตลาดธุรกิจสัตว์เลี้ยงในไทยของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เผยว่า 49% ของกลุ่มตัวอย่างนิยมเลี้ยงสัตว์เป็นลูก (Pet Parent) มากที่สุด โดยมีค่าใช้จ่ายในการดูแลเสมือนลูกเฉลี่ยอยู่ที่ 14,200 บาท/ตัว/ปี นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่า ตลาดสัตว์เลี้ยงจะมีมูลค่าสูงถึง 66,748 ล้านบาทในปี 2569 เติบโตเฉลี่ยปีละ 8.4% สอดคล้องกับเทรนด์การใช้ชีวิตกลุ่ม LGBTQIAN+ ที่ให้ความสนใจเลี้ยงสัตวเลี้ยงเป็นเพื่อน หรือดูแลเหมือนเป็นลูก
- พื้นที่ออกกำลังกายครบครัน อีกปัจจัยที่กลุ่ม LGBTQIAN+ ให้ความสำคัญคือการดูแลสุขภาพ โครงการที่อยู่อาศัยจึงต้องมาพร้อมพื้นที่ส่วนกลางรองรับการออกกำลังกายได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่กลางแจ้ง เช่น ลู่วิ่ง เลนปั่นจักรยาน สระว่ายน้ำ รวมทั้งห้องออกกำลังกายส่วนกลาง (Fitness Center) นอกจากนี้ การมีสระว่ายน้ำวารีบำบัด หรือมีเครื่องออกกำลังกายในน้ำยังถือเป็นเทรนด์การดูแลสุขภาพที่น่าจับตามอง เนื่องจากเป็นอีกทางเลือกในการลดความเสี่ยงของอาการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายได้อีกด้วย
- เทรนด์ DINK (Double Income No Kid) แนวคิดของคู่รักรุ่นใหม่ที่ต่างทำงานแต่ยังไม่มีลูก หรือวางแผนไม่มีลูก รวมทั้งคู่รักกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งนิยมวางแผนบริหารการเงินให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์ด้วยการนำไปลงทุน ทั้งนี้การลงทุนอสังหาฯ เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในการสร้างผลตอบแทนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากมีความผันผวนน้อยกว่า และให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนประเภทอื่น ๆ โดยการลงทุนอสังหาฯ ที่น่าสนใจมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการลงทุนแบบเก็งกำไร แบบปล่อยเช่ารายเดือน การลงทุนในกองทุนอสังหาฯ และการลงทุนรีโนเวท
แม้ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมจะต้องรอการพิจารณาในวาระอื่น ๆ แต่ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่จะสร้างแรงกระเพื่อมที่สำคัญในสังคมไทยอีกครั้ง ปัจจุบันคู่รัก LGBTQIAN+ ที่ต้องการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยสามารถศึกษาเงื่อนไขการกู้ร่วมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในแคมเปญต่าง ๆ ของหลายธนาคารที่มีออกมารองรับได้เช่นกัน